วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 15:31 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันจันทร์ ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2565, 19.12 น.

แก้ปมความเหลื่อมล้ำสังคมไทย เริ่มที่เพิ่มโอกาสประชาชน

แก้ปมความเหลื่อมล้ำสังคมไทย เริ่มที่เพิ่มโอกาสประชาชน 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล

สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

กว่าทศวรรษที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยถูกขมวดปมที่ปัญหา 5 ข้อ ที่ยังเป็นปมปัญหาที่รอวันแก้ไขคือความเหลื่อมล้ำซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลไกเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการทำมาหากินได้อย่างเป็นธรรม  ภาคการเงิน การคลัง ที่ยังมีการจัดเก็บภาษี ได้ไม่ตามเป้า ระบบสวัสดิการของรัฐยังไม่เพียงพอ ระบบธรรมาภิบาลที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจทางการเมืองท้องถิ่นขาดการขับเคลื่อนอย่างจริงจังระบบการเงินของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่มุ่งจัดการตนเองในพื้นที่ยังไม่คล่องตัวเท่าที่ควร

ขณะที่ความพยายามของภาครัฐที่ต้องการลดระดับความเหลื่อมล้ำทางสังคมแก่ประชาชนที่อยู่ในช่วงที่ยากลำบากทั้งจากโครงสร้างรายได้เศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับความกังวลด้านสุขภาพที่เกิดจากภัยพิบัติโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กำลังจะกลายพันธุ์และอาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในวงกว้างทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ปี่ กลองทางการเมือง เข้าสู่โหมดโหมโรงแต่ไก่โห่ เตรียมรับมือสู้ศึกเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ทำให้หลายฝ่ายหยิบประเด็นความเท่าเทียม การลดความเหลื่อมล้ำ เป็นโจทย์หาเสียงถี่ขึ้น ทั้งพรรคการเมืองเก่าแก่และพรรคใหม่ต่างฝ่ายก็ต่างแย่งซีนหาเสียง ไม่มีใครยอมใคร เหมือนสงครามทัพสุดท้ายก่อนปิดประตูเมืองฉลองชัย

ภาคประชาสังคมมองว่า ความเหลื่อมล้ำและการขาดธรรมาภิบาลมีการพูดกันมานาน ซึ่งบางคนอาจลืมไปด้วยซ้ำว่ามีอยู่ในสังคม เพราะเรียกร้องอย่างไรก็ไม่มีผลตอบสนอง แค่คิดถึงก็ทำให้แทบหมดเรี่ยวหมดแรง ระบบเศรษฐกิจกระจุกอยู่เฉพาะกลุ่ม บางช่วงเวลาการเมืองกลายเป็นต้นตอปัญหาความเหลื่อมล้ำเสียเอง ดังนั้น การขับเคลื่อนอนาคตประเทศจะยากลำบากขึ้น

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาภาครัฐเองก็ได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบและทำให้เกิดการกระตุ้นรายได้ของประชาชนหลายครั้ง ตัวเลขอัดฉีดงบประมาณที่เป็นกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็จริง แต่การเพิ่มขึ้นของรายได้เป็นเพียงการจ่ายเงินเข้าบัญชีประชาชน ไม่ได้เกิดจากตัวผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการทำงานของประชาชน ทำให้ประเทศไทยยังคงติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ในระดับต้นๆของโลก ขณะที่ภาวะการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ การประเมินอัตราความเติบโตรายได้เฉลี่ยของประชาชนจึงไม่ตรงกับสภาพที่เป็นจริง

อนาคตสังคมไทย อาจจะประสบข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหามากขึ้น หากยังไม่สามารถยกระดับรายได้เกษตรกร ภาคแรงงานและการผลิตที่เป็น 1 ใน 3 ของประเทศให้มีรายได้ขยับสูงขึ้น ได้กล่าวคือ หากผู้รับผิดชอบยังปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคต่าง ๆ ในท้องตลาดมีราคาแพงสูงขึ้น ขณะที่สินค้าเกษตรอย่างราคาข้าวราคาตกต่ำติดท้องไร่ท้องนาอย่างนี้ไปอีกประชาชนจะมีความลำบากขึ้นและกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่ขยายไปในวงกว้าง ช่องทางการศึกษา การทำมาหากิน การได้รับสิทธิดูแลด้านสวัสดิการของรัฐ  ขณะที่ตัวเลขคนสูงอายุ สูงขึ้นทุกวัน ความท้าทายด้านงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างเงียบๆ จะเปลี่ยนเป็นภาระหนักที่รัฐไม่อาจหลีกเลี่ยง 

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหายไปจากสังคมไทยซึ่งกำลังต้องการผู้นำทางฝ่ายการเมืองมานำขบวนแก้ปัญหา ท่านกลางสนามเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองปักใต้ในหลายเขตเลือกตั้ง ต่างชูนโยบายแก้ความเหลื่อมล้ำกันทั่วทุกพรรคการเมือง การแก้รวยกระจุก แต่จนกระจายคงจะถูกท้าทายคำสัญญาของนักการเมืองอีกรอบ  ว่าจะแก้ปมปัญหาที่กว่าทศวรรษที่ผ่านมาได้ทิ้งไว้เป็นมรดกทางสังคมที่ไร้ความปราณี จะทำให้ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างสังคมขจัดออกไป หรือจะทอดเวลายาวออกไปอีกได้

ความจริงแล้วระบบการปกครองนโยบายสาธารณะมีความสำคัญต่อสังคมและประเทศชาติส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งประเทศรัฐบาลต้องมีนโยบายที่จะนำไปปฏิบัติเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทำให้ประชาชนที่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น เมื่อประชาชนเห็นว่านโยบายของรัฐบาลมีประโยชน์และตอบสนองต่อความต้องการในการดำเนินชีวิตก็จะให้การสนับสนุนรัฐบาลมากขึ้น

นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ต่อทั้งประชาชนและรัฐบาล นโยบายสาธารณะมีหลายประเภทตามความเหมาะสม ส่วนการนำไปใช้บริหารประเทศนั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะกำหนดและปฏิบัติตามนโยบายสาธารณะได้แค่ไหน ดังนั้น นโยบายสาธารณะจึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างประโยชน์และพัฒนาชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น

การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ต้องอาศัยนโยบายสายกลางเชิงสังคมเป็นแกนขับเคลื่อน กล่าวคือต้องให้ความสำคัญกับหลักนิติธรรมหลักความดี มีคุณธรรมบริการสาธารณะที่เสมอภาคภาค มีความโปร่งใส การรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต้องมีความสะดวก ภาครัฐมีการดำเนินงานด้วยความมีประสิทธิภาพ ประหยัด มีประสิทธิผลการมีส่วนร่วมเปิดใจรับฟังความเห็นต่างของทุกฝ่าย  ไม่ละเลยต่อเสียงส่วนน้อยนักวิเคราะห์ทางการเมืองมองว่า การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน อาจเกิดปรากฎการณ์ทางการเมืองได้เสมอ ทำให้ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านต่างก็หาเหลี่ยมมุมของความเหลื่อมล้ำทางสังคมปั้นเป็นนโยบายเดินหน้าอัดเคมเปญความเหลื่อมล้ำ เป็นนโยบายหลักของพรรค ชูนโยบายธรรมาภิบาล เน้นนโยบายสาธารณการบริการกันอย่างคึกคัก

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติสังคมไทยทำให้เบื้องลึกความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย มีความยากลำบากที่จะแก้ไขปมความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปเรื่อยๆ นี้ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจึงควรหันมาให้ความจริงจังที่การพัฒนาคนและเริ่มต้นที่เพิ่มโอกาสแก่ประชาชน ต้องมุ่งที่นโยบายสาธารณะของรัฐบาล ทั้งตัวของนักการเมืองเอง หรือพรรคการเมืองแกนนำของรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการนำนโยบายมาใช้แก้ปัญหาแก่ประชาชนได้จริง

มองยุทธศาสตร์ประเทศได้อย่างทะลุว่าประเทศมีจุดแข็งเรื่องใดและจะนำมาแปลงนโยบายสาธารณะสายกลางเชิงสังคมเพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา ตรงจุด ตรงความต้องการของชุมชน ท้องถิ่นและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมุ่งมั่นบริหารประเทศโดยยึดธรรมาภิบาลเน้นการสร้างงาน สร้างโอกาสเปิดช่องให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมในชุมชนได้อย่างง่าย ไม่ยุ่งยาก  ซึ่งการเพิ่มโอกาสประชาชนนี้เอง คือการแก้ปมความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง