วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 20:46 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 13.06 น.

องค์กรแห่งการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมกับสังคมไทย

องค์กรแห่งการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมกับสังคมไทย

 

ดร.อุดม ชนะสิทธิ์ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมคธ แห่งประเทศไทย

การศึกษาไทยในปัจจุบัน ยึดโยงกับบริบทของแผนการศึกษาของชาติ คือพัฒนาคน พัฒนาครูอาจารย์ พัฒนาสังคม ในหลากหลายรูปแบบที่เน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรภาครัฐและเอกชน แนวโน้มจะมีการจัดการอาชีพมากขึ้น หมายความว่าการอาชีวศึกษาจะมีบทบาทมากขึ้น การมุ่งเน้นให้มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับปริญญาตรีเพื่อเน้นการมีงานทำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงสังคมภายนอก อย่างเช่น ปัจจัยด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ระบบราชการ การเมืองการปกครอง และคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการปรับรูปแบบใหม่ โดยการขับเคลื่อนของหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค 1-18 กลุ่มจังหวัด เขตพื้นที่และสถานศึกษา ร่วมมือกันพัฒนารูปแบบการศึกษาเพื่อก้าวไปสู่การสร้างเสริมองค์ความรู้ ที่จะเกิดขึ้นด้วยเลนส์ในการมองใหม่เป็นองค์กรที่พร้อมปรับตัวปรับทัศนคติหรือ Mindset เพราะคนเราจะมองเห็นแต่ในสิ่งที่มองหาเราต้องรู้จักเปิดใจยอมรับมุมมอง วิธีคิด และผลลัพธ์ที่แตกต่างจากเลนส์ใหม่จากของคนที่อยู่ร่วมด้วย เพราะเมื่อเราปรับ Mindset แล้ว เราจะสามารถนำยกระดับการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นในยุคดิจิทัลไปสู่มิติใหม่ที่เปิดกว้างด้วยกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษามากกว่าเดิม

การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมีความเชื่อมโยงกับวิธีคิดที่จะนำไปสู่การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักปฏิบัติ อาทิเช่นความเข้าใจเรื่องความรวดเร็วแม่นยำ และความชักช้า มีผลต่างกัน หมายความว่าความรู้ที่จะเกิดขึ้นด้วยการทำงานที่เร็วขึ้นจะทำให้พบข้อผิดพลาดเร็วขึ้น เป็นวงโคจรเป็นเหมือนการสั่งสมประสบการณ์ให้มีความมั่นคงและแข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรที่ทำงานช้าเพราะกังวลว่าจะเกิดข้อผิดพลาดสิ่งนั้นจะเป็นเกราะป้องกันไมให้องค์กรสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเวลาเจอข้อผิดพลาด เพราะยิ่งองค์กรเหล่านั้นทำงานช้าการพบวิธีการในการแก้ไขสถานการณ์ก็จะช้าตามไปด้วย

ความผิดพลาดทำให้เกิดการเรียนรู้องค์กรที่ทำงานเร็ว แต่ไม่ก้าวหน้า สาเหตุหนึ่งมาจากเมื่อเกิดความผิดพลาดแล้ว ไม่เรียนรู้และพัฒนามุมมองจากจุดที่ผิดพลาด เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และถ้าเรายังเกิดความผิดพลาดและอยู่กับที่เรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่จะดึงกลับมาได้ลำบากขึ้น สุดท้ายจะเกิดการชะลอความสำเร็จและชะลอการเรียนรู้ไปด้วยความรู้จะคงอยู่ ต่อเมื่อรู้จักเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง องค์กรต้องมีทัศนคติที่อยากจะเรียนรู้และมีวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อสร้างระบบการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและต่อยอดสู่ความสำเร็จ ดังนั้น การสร้างสรรค์รูปแบบการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดของโลก ต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างระบบสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองสไตล์การเรียนรู้ของคนทุกคน พร้อมอัพเดทสิ่งใหม่ๆ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานท่ามกลางโลกดิสรัปชั่นที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงเช่นทุกวันนี้

การศึกษาเป็นการพัฒนามนุษย์ ผ่านกระบวนการสั่งสอน กระบวนการฝึกอบรม หรือกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ความชำนาญ และทัศนคติที่รวมเรียกว่าประสบการณ์ ซึ่งมนุษย์เป็นผู้จัดและถ่ายทอดให้แก่กัน หมายรวมถึงวัฒนธรรมหรือวิธีทางแห่งการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งที่มองเห็นและไม่มองเห็นช่วยยกระดับสมรรถนะบุคลากรในองค์กรทำให้องค์กรได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้อยู่ในแนวหน้า ปัจจุบันเราเรียกองค์กรนี้ว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้ การพัฒนามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เป็นระบบ ทำให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพและต่อเนื่อง มีการปรับบทบาทหน้าที่ การคงอยู่ขององค์กร 

การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ในสังคมไทยนั้น จะพบว่าการศึกษาไทย มุ่งที่การปฏิรูประบบ  เน้นประสิทธิภาพ  ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุม  อบรม  สัมมนา การพัฒนาสมรรถนะ พัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ ความเข้าใจในทุกด้านแม้ขณะนี้สามารถที่จะแข่งขันในเวทีโลก ยังมีกับดักทางความคิดเดิมบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากยังยึดการเป็นผู้สอนหนังสือมากกว่าการสอนคน ดังนั้น การนำการศึกษาเพื่อการพัฒนาคน  คงจะต้องปรับท่าทีในการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรม และความต้องการของคนในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ให้มากขึ้นด้วย 

นักวิชาการศึกษาหลายท่านเห็นพ้องกันว่า การศึกษาควรเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน เพราะโลกยุคใหม่มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การศึกษาเรียนรู้สังคมขยายกว้างตามออกไปด้วยเช่นกัน ปัจจุบันการศึกษาคือการเรียนรู้  ที่มนุษย์ทุกคนจำต้องแสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตผ่านการจัดการเรียนรู้ที่มีอยู่อย่างมหาศาล  ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่สุดนั้นทั่วโลกให้การยอมรับว่าการศึกษาคือการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งต้องบูรณาการกับศิลปวัฒนธรรม เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เป็นสังคมแห่งคุณธรรมจริยธรรม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งหน่วยงานทางการศึกษาเองต้องให้ความสำคัญต่อโอกาสทางการศึกษา สมรรถะของผู้เรียน และเป้าหมายคือมนุษย์

จะเห็นได้ว่า พรบ.การศึกษาทั้ง 3 ฉบับที่ออกประกาศใช้ปี พ.ศ.2542 , พ.ศ.2546 และ พ.ศ.2553 มุ่งเน้นที่การจัดการ เพื่อใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงเน้นประสบการณ์การเรียนรู้ การเพิ่มความสามารถในการปรับปรุงการปฏิบัติงาน พัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม ในการดำรงชีวิตผ่านรูปแบบการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย  เน้นการสร้างพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ เกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษาต้องสร้างคุณลักษณะการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ให้มีความสมดุลทั้งด้านความรู้ ความคิด ความสามารถ ความดีงาม และความรับผิดชอบต่อสังคม

คำว่าทรัพยากรมนุษย์ เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ.  1965 – 1970 ตรงกับ พ.ศ. 2508 – 2513 ใช้เพื่อต้องการเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม มองคนเป็นทุน คือเป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ต่อมาจึงเกิดการศึกษาที่เน้นพัฒนามนุษย์ใช้ระบบการศึกษาเป็นกระบวนการในการพัฒนาคน ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการศึกษาระยะยาวและการศึกษาที่ตอบสนองยุคสมัย เป็นการศึกษาระยะสั้น ประเทศชาติจะรุ่งเรืองมั่นคง ก็ด้วยการพัฒนาคน การพัฒนาคนก็คือการศึกษา  คนที่มีการศึกษา ตลอดจนจบการศึกษาแล้วเรียกว่า บัณฑิต คือคนที่ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ความหมายข้อนี้ก็คือการพัฒนา(Development) นั้น เป็นการฝึกอบรมคนให้มีความสามารถใหม่ เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ มุมมองใหม่ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสร้างสรรค์งานได้ผลดียิ่งขึ้น มีบริการที่รวดเร็วกว่า  มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น  เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนารายบุคคล 

อย่างไรก็ตาม ความทันสมัยอาจจะไม่เพียงพอจะจำกัดความสำหรับเรื่องใหม่ ๆ การใช้ความรู้และการสังเกตจากประสบการณ์ที่ได้พบเจอกับผู้คนที่หลากหลาย นำมากลั่นกรองเป็นเนื้อหาที่จะกระตุ้นความคิดให้ทุกคนรู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี ความสำเร็จ และชีวิตที่ดียิ่งขึ้น แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางครั้งเป็นสิ่งที่น่ากลัว ทว่าหากมีการเตรียมพร้อมและกำหนดยยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องที่วิเศษสุด นำมาซึ่งอนาคตที่ดีงามและมั่นคง ดังนั้น การจัดการศึกษาที่เน้นสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นยุคดิจิทัล จึงต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อาศัยการศึกษาเรียนรู้จากสภาพจริงของสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มาก ความท้าทายขององค์กรแม้จะก้าวสู่โลกยุคดิสรัปชั่น ซึ่งต้องพบกับความท้าทายโลกยุคดิสรัปชั่นมากมายก็ตามแต่สิ่งที่ต้องยกระดับให้สูงขึ้นคือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่โลกยุคใหม่ควรมีซึ่งจะเป็นเสมือนกุญแจทองคำที่จะเปิดมิติมุมมองใหม่องค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ และขับเคลื่อนการศึกษาโดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นฐาน เพื่อเสริมสร้างการศึกษาและสังคมไทยให้สอดคล้องกับการพัฒนาทุนมนุษย์และทุนทางสังคมในชุมชนท้องถิ่นยุคดิจิทัล ให้เป็นรากฐานการดำเนินชีวิตได้อย่างยืนต่อไปในอนาคต