วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 21:52 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพฤหัสบดี ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2565, 20.46 น.

กัญชาเป็นพืชสมุนไพร ฝันที่เป็นจริงวิสาหกิจชุมชนไทย

กัญชาเป็นพืชสมุนไพร ฝันที่เป็นจริงวิสาหกิจชุมชนไทย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนกกมล วาณิชยชาติ

ผู้ก่อตั้งและประธานวิสาหกิจชุมชนไมตรีจิต2เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร

ข้อบ่งชี้ถึงสภาวะคนทั่วไปที่บริโภคกัญชาซึ่งจะมีผลที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและสรีรวิทยา กล่าวคือจะมีภาวะเคลิ้มสุข ความผ่อนคลายและความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ผลข้างเคียงไม่พึงปรารถนาบางครั้งจะรวมถึงความจำระยะสั้นลดลง ปากแห้ง ทักษะการเคลื่อนไหวบกพร่อง ตาแดง และรูปแบบการใช้ชีวิตมักจะพบว่ามีอาการหวาดระแวงหรือวิตกกังวลให้สังเกตเห็นได้ ซึ่งในขณะที่ข้อมูลด้านเวชกรรมพบว่า กัญชาหรือต้นกัญชา เป็นสารเสพติดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและเป็นยารักษาโรคในทางเภสัชวิทยา องค์ประกอบที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลักของกัญชา คือเตตระไฮโดรแคนนาบินอล ซึ่งเป็นสารประกอบหนึ่งจาก 483 ชนิดที่พบในต้นกัญชา ซึ่งสารอื่นที่พบมีแคนนาบินอยด์อีกอย่างน้อย 84 ชนิด อย่างเช่น แคนนาบิไดออล แคนนาบินอล เตตระไฮโดรแคนนาบิวาริน และแคนนาบิเจอรอล

กัญชา มักพบว่ามีการนำมาใช้เป็นยานันทนาการหรือยารักษาโรค และใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาหรือวิญญาณ มีบันทึกการใช้กัญชาครั้งแรกตั้งแต่สหัสวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล นับแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กัญชาถูกจำกัดตามกฎหมาย โดยปัจจุบันการครอบครอง การใช้หรือการขายการเตรียมกัญชาปรุงสำเร็จซึ่งมีแคนนาบินอยด์ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทผิดกฎหมายในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกอดีตนั้นสหประชาชาติเคยแถลงการณ์ว่า กัญชาเป็นยาผิดกฎหมายที่ใช้มากที่สุดในโลกในปี 2547 โดยสหประชาชาติประมาณการบริโภคกัญชาทั่วโลกชี้ว่าประมาณ 4 % ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลก (162 ล้านคน) ใช้กัญชาทุกปี และขณะที่อัตราเฉลี่ยประมาณ 0.6%(22.5)ใช้ทุกวัน

สำหรับสังคมไทยนั้น กว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการพูดกันบนเวทีเสวนามากมาย  ต่อกรณีปัญหากัญชาจะแก้อย่างไร เป็นเรื่องที่สังคมไทยสับสนมานาน ว่าจะเอาอย่างไงกันแน่ ปลูกได้หรือไม่ได้ จะปลูกที่บ้านจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ กลายเป็นเรื่องที่กลุ่มวิสาหกิจกัญชาเกาะติดสถานการณ์มาตลอด ว่าเมื่อไร อย.จะปลดพืชกัญชาออกจากบัญชีพืชที่เป็นยาเสพติด เติมฝันกัญชาเป็นยาวิเศษ อย่างน้อยก็สำหรับชุมชนชาวรากหญ้าที่ใช้ภูมิปัญญากัญชาเพื่อการแพทย์แบบทางเลือกมานานจะให้ได้ใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาในฐานะเป็นสมุนไพร เป็นยาตำรับชาวบ้านที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างจริงจัง

ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าแนวทางขณะนี้คือให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งมีเลขาธิการองค์การอาหารและยา(อย.)เป็นประธาน ไปเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขมา ก็คือเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่5 โดยตัดคำว่ากัญชาเป็นยาเสพติดออกไป พอคณะอนุกรรมการชุดนี้ยกร่างประกาศกระทรวงฯ มา ก็จะนำไปเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ชุดนี้จะมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ซึ่งจะมีการเสนอเรื่องนี้ภายใน 21 มกราคม 2565 นี้  เสร็จแล้วจะนำร่างดังกล่าวนี้ไปเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือบอร์ด ปปส. ถ้าบอร์ด ปปส.เห็นด้วยก็จะส่งกลับมาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามและประกาศใช้ เมื่อถึงตอนนั้นมันก็จะไป

สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา เมื่อผ่านขั้นตอนอย่างนี้ ก็จะสามารถปลูกกัญชาที่บ้านได้ไม่มีปัญหาด้านกฎหมายอีกต่อไป

สำหรับวิสาหกิจชุมชนไมตรีจิต2  ที่เป็นกลุ่มเครือข่ายที่ให้ความสนใจพืชสมุนไพรกัญชา-กัญชง เช่นกัน  มีการดำเนินงานภายใต้แนวคิดวิสาหกิจของชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน ในหลายเรื่อง รวมถึงมีการวางแผนดำเนินงานและดำเนินงานเรื่องกัญชากับคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในการทดลองปลูก เพื่อวิจัยทางการแพทย์ทางเลือก ทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือสนับสนุนการวิจัยด้านการเรียนรู้แก่สถาบันการศึกษามากว่า 2 ปี  สมาชิกรวมกลุ่มกันเป็นภาคีเครือข่ายกับกลุ่มวิสาหกิจสมุนไพรในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเช่น ภาคใต้ ทีมีความเข้มแข็งและมีการสร้างสมองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านพืชกัญชาไว้มาก ผ่านการอบรม สัมมนาแลกเปลี่ยนแนวคิด ทักทอเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการจะขับเคลื่อนเรื่องนี้

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนไมตรีจิต2 บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ มีอาคารฝึกอบรม มีหลักสูตรอบรมไม่เฉพาะแต่เรื่องสมุนไพรไทยอย่างกัญชาเท่านั้น แต่ยังมีการให้ความรู้ชุมชนในหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับอาชีพ ได้ดำเนินการอบรมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันอยู่เสมอ แม้แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็ยังมีการเชื่อมโยงกันผ่านสื่อออนไลน์และติดตามความเคลื่อนไหวของภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะทิศทางแนวทางปลดล๊อคกัญชา กัญชง จากบัญชียาเสพติดด้วย

ความจริง แนวคิดเรื่องวิสาหกิจชุมชนมีฐานคิดที่ดี ที่ตั้งใจให้เป็นกิจการ เป็นองค์กรธุรกิจภาคประชาชนที่มีลักษณะการนำเอารูปแบบการทำธุรกิจเข้ามาช่วยโดยมีเป้าหมายคือยกระดับมูลค่าทางสังคมโดยไม่ได้คิดเรื่องผลกำไรหรือหากจะกำไรเกิดขึ้นก็เป็นเพราะว่าเกิดจากประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ที่สามารถสร้างความยั่งยืนไปได้ต่อเนื่อง

ระบบธุรกิจ เป็นการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดและการลงทุนที่ต้องมุ่งการทำกำไรเป็นหลัก ซึ่งแน่นอน ธุรกิจบางชนิดจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้าง ที่อยู่ในระนาบของปัญหาสิ่งแวดล้อม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม จนมาถึงจุดที่ระบบธุรกิจดังกล่าวก็โดนสังคมตีกลับ เป็นโจทย์ให้ภาคธุรกิจต้องหันมาทบทวนและมีการปรับท่าทีของความรับผิดชอบต่อสังคมและพัฒนาไปถึงขั้นการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคมที่เรียกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise)

ในขณะที่ปัญหาของวิสาหกิจชุมชนหรือวิสาหกิจเพื่อสังคมของประเทศไทย ก็คือการไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินการอย่างเพียงพอ รวมถึงภาครัฐไม่ได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม และความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัย ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนและเพื่อสังคม จะเป็นในรูปแบบของการทำกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทใหญ่ ๆ  ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะ

เป็นโครงการระยะสั้น ที่ไม่เกินหนึ่งปี  มีข้อจำกัดของผู้ให้ทุน ข้อจำกัดด้านความเสี่ยง ข้อจำกัดในด้านความรู้ความเข้าใจระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR)และวิสาหกิจเพื่อสังคม(SE) สังคมมองว่ากิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมก็คือการเอาของไปบริจาคเพียงแค่นั้น

ดังนั้น การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับวิสาหกิจชุมชนหรือเพื่อสังคมอื่นต้องมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มหรือองค์กรเครือข่ายให้มากขึ้นแต่อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหวังที่มีการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ช่วง พ.ศ.2552 นั้น จะเน้นการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีความสุขและความมั่นคงของสังคมส่วนร่วมเป็นเป้าหมาย และเพื่อให้ส่งผลดีในการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดความมั่นคงของชาติ ซึ่งวิสาหกิจชุมชนไมตรีจิต2 ก็หวังเช่นนั้น ตลอดจนคาดว่าในอนาคตวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จจะได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานหรือการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับในประเทศอังกฤษที่มีการจัดตั้ง Social Enterprise UK ขึ้นมาช่วยเหลือทั้งนี้ เพื่อให้คำแนะนำการประกอบธุรกิจ ตลอดจนจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ที่จะยกระดับการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้วิสาหกิจชุมชนให้มีความเติบโต สามารถสร้างประโยชน์แก่ชุมชน ท้องถิ่นและสังคมอย่างแท้จริง