วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 20:50 น.

การศึกษา

จะเกิดอะไรขึ้น ?! หลังจากปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด 9 มิ.ย. 2565

วันเสาร์ ที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 13.03 น.
จะเกิดอะไรขึ้น ?! หลังจากปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด 9 มิ.ย. 2565 
 
 
คณะแพทย์ นักวิจัย และนักวิชาการ ด้านยาเสพติด เยาวชน และสุขภาพจิตระดับประเทศ 20 คน ในฐานะ “เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด” อาทิ นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย ฯลฯ ออกประกาศข้อเท็จจริงที่ควรทราบ “สังคมไทยจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป” โดยเนื้อหาระบุว่า  
 
 
1.กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉบับลงนามวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565) จะมีผลบังคับใช้หลังพ้น 120 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป    ประกาศฉบับนี้กำหนดให้เฉพาะ “สารสกัด” ที่มี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เท่านั้น ที่เป็นยาเสพติด   ส่งผลให้ “พืชกัญชา (เช่น ช่อดอก ซึ่งไม่ใช่สารสกัด แต่มี THC สูงถึงร้อยละ 10-20)” จะไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป   ซึ่งเท่ากับเป็นนโยบายกัญชาเสรี ไปไกลเกินกว่านโยบายกัญชาทางการแพทย์มาก   ทุกคนสามารถสูบช่อดอกกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชนด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ (หมายเหตุ: พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีการห้ามเสพกัญชา เนื่องจากในสมัยนั้นกัญชายังเป็นยาเสพติด)    
 
 
2.ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ซึ่งเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดในระดับหนึ่ง ได้ถูกบรรจุในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาวาระ 1 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2565   ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ในสภาผู้แทนราษฎรตามระเบียบมาตรฐาน และจะต้องเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป   กระบวนการทั้งหมดนี้จึงต้องใช้เวลา และไม่มีทางเสร็จสิ้นทันก่อนวันที่ 9 มิถุนายน นี้   จึงจะส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางนโยบาย คือ กัญชาจะเป็นพืชที่ไม่เป็นยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้เป็นต้นไป และจะไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ   ประชาชนทุกครัวเรือนจะสามารถปลูกและใช้กัญชาได้เหมือนการปลูกพริก ปลูกผัก ทั่วไป หากไม่นำกัญชาไปสกัด   แม้กระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้กลิ่นและควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกันเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. ... ก็จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนรำคาญที่ผู้สูบกัญชามีต่อผู้อื่นในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แต่ไม่ได้เป็นการแก้ต้นเหตุ คือ ไม่สามารถควบคุมการปลูกและการนำช่อดอกกัญชาไปสูบโดยเยาวชนหรือประชาชนแต่ประการใด   ทำให้สามารถคาดคะเนได้ว่าจะมีการนำช่อดอกกัญชาที่ปลูกในครัวเรือน (ซึ่งสามารถปลูกได้โดยไม่จำกัดจำนวน) ไปสูบโดยเด็กและเยาวชน และแม้แต่ผู้ใหญ่ มากเพียงใด   ดังที่เริ่มมีเยาวชนไทยเริ่มทดลองสูบกัญชาที่ปลูกในบ้านเพื่อน ด้วยอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเองจากการดู YouTube หลังจากที่มีการประกาศประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้  อีกทั้งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามีการสูบกัญชามากขึ้นในกลุ่มเยาวชนในประเทศแคนาดา และบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากที่มีนโยบายกัญชาเพื่อนันทนาการ 
 
 
3.แม้ประเทศที่ให้ใช้กัญชาอย่างเสรีที่สุด คือ ให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการได้ ยังมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น เช่น ประเทศอุรุกวัย รัฐผูกขาดการค้าส่งในประเทศ ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ซื้อขายในตลาดจะต้องบรรจุในถุงที่ไม่มีลวดลายใด ๆ ถุงบรรจุนี้ระบุได้เพียงร้อยละของ THC และข้อความคำเตือนเกี่ยวกับการใช้กัญชา   มีมาตรการห้ามโฆษณา ห้ามให้ทุนอุปถัมภ์ และห้ามส่งเสริมการขาย โดยสิ้นเชิง    และมีมาตรการกำหนดไม่ให้เสพกัญชาแล้วขับขี่ยานพาหนะ และมีมาตรการภาษีกัญชา   ส่วนประเทศแคนาดา รัฐผูกขาดการค้าส่ง มีการควบคุมการครอบครองกัญชาในที่สาธารณะ (เช่น ห้ามครอบครองเกินหนึ่งต้นกัญชาที่มีช่อดอกในที่สาธารณะ) ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์กัญชา หรือ บรรจุภัณฑ์ หรือ สลาก ให้เยาวชนเห็น ส่งผลให้มีแต่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาในร้านที่จำหน่ายกัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งห้ามเยาวชนเข้า (คือไม่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาให้เห็นได้ทั่วไป)   ห้ามการโฆษณาโดยรูปแบบ/วิธีการ/เนื้อหาที่เยาวชนสนใจ   มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชาในครัวเรือนได้ แต่ต้องไม่เกินครัวเรือนละสี่ต้น และห้ามปลูกให้เห็นได้จากที่สาธารณะนอกบ้าน และบริเวณที่ปลูกในบ้านต้องไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ (เช่น เด็ก ๆ ในบ้านต้องไม่สามารถเข้าถึงได้)   และมีมาตรการภาษีกัญชา เป็นต้น   จึงสรุปได้ว่า แม้ประเทศที่ปล่อยให้มีการใช้กัญชาอย่างเสรีที่สุด คือ สามารถใช้เพื่อนันทนาการได้ ยังมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น เพราะเล็งเห็นโทษที่จะตามมาหากปล่อยให้มีการใช้กัญชาในทางที่ผิดมากๆ   จึงไม่มีประเทศใดในโลกที่กำหนดให้มีนโยบายกัญชาเสรีโดยไม่มีการควบคุมใดๆ 
 
 
4.เงื่อนไขสำคัญที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในวันที่ 25 มกราคม 2565 ต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ แต่ให้มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน คือ เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิด (เช่น สูบดอกกัญชาเพื่อการนันทนาการ) อย่างเพียงพอ ก่อนที่ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จริง ๆ และยังได้อภิปรายในที่ประชุมว่าสามารถที่จะขยายเวลาออกไปได้อีกหากยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิด   จึงมีความชอบธรรมอย่างยิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. จะพิจารณาชะลอการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ไปก่อน และจะยิ่งเป็นความสง่างามของกระทรวงสาธารณสุข หากกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาเสนอให้ชะลอการบังคับใช้ประกาศฉบับนี้ด้วยตนเอง เพื่อปกป้องสุขภาพของเยาวชนและประชาชน เนื่องจากยังไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ 
 
 
เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด 29 พฤษภาคม 2565  ลงชื่อ นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ  นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก  ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada  รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และ ผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย  ศ.นพ.มานิต ศรีสุรภานนท์ ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
 
 
ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ ศาสตราจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  รศ.พญ.รัศมน กัลป์ยาศิริ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด  ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ   อายุรแพทย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัยศาสตราจารย์ สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน ที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
 
 
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร อาจารย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพงศธร จันทรัศมี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ นายไฟซ้อน บุญรอด ประธานเครือข่ายภาคประชาชนป้องกันภัยยาเสพติด นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่นนักพัฒนางานวิชาการ ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ  นายวันชัย บุญประชา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว นพ.ไพศาล ปัณฑุกำพล สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี รศ.นพ.วัชรพงศ์ พุทธิสวัสดิ์  สาขาวิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น   อดีตประธานราชวิทยาลัยศัลยศาสตร์ 
 
 
 
ส่งข่าวได้ที่ email  saowaporn12345@gmail.com   ,  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@yahoo.com 

หน้าแรก » การศึกษา