วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 14:48 น.

การศึกษา

“นโยบายกัญชาทางสายกลาง”ใช้ประโยชน์และหลีกเลี่ยงโทษจากการใช้กัญชาได้

วันพฤหัสบดี ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 07.09 น.

“นโยบายกัญชาทางสายกลาง”ใช้ประโยชน์และหลีกเลี่ยงโทษจากการใช้กัญชาได้

 

 

เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด ได้นำเสนอบทความทางวิชาการเกี่ยวกับนโยบายกัญชาเสรีโดยในเนื้อหากล่าวว่า ผู้เห็นประโยชน์และสนับสนุนการใช้กัญชามักพูดถึงประโยชน์ในสองลักษณะ คือ 1.เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และ 2.เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ทำอาหารผสมกัญชา   ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีใครสนับสนุน “กัญชาเพื่อความบันเทิงหรือสันทนาการ”

 

 

กัญชามีประโยชน์จริง เช่น 1.การใช้สารสกัดกัญชาตามแนวแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ระบุว่าใช้ได้กับโรคหรือกลุ่มอาการ 6 ประการ ซึ่งจะเน้นใช้สารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids : CBD) หรือใช้สารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (Tetrahydrocannabinol : THC) ในปริมาณน้อยเพราะไม่ต้องการให้เมา THC   2.ใช้ยาแผนไทยเข้ากัญชา 16 ตำรับ ซึ่งเป็นตำรับที่มีการปรุงผสมกัญชากับสมุนไพรอื่น ๆ อีกจำนวนมาก โดยส่วนผสมที่ว่านี้ทำให้ไม่สามารถใช้เสพกัญชาเพื่อความบันเทิงได้   3.การใช้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ของแพทย์พื้นบ้าน เช่น น้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา ศิริภัทร ซึ่งเป็นสูตรที่มี THC ต่ำ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย

 

 

ขณะที่ประเด็นของการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการทำอาหาร เช่น ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กล่าวในรายการมองโลกมองธรรม กัญชา กัญชง มากพิษสงฯ วันที่ 19 มิถุนายน 2565 ไว้ว่า ประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ใบกัญชาและใส่ไม่มากในการทำยาและใส่ในอาหาร   และไม่นิยมใช้ดอกผสมอาหาร เพราะจะทำให้รสชาติเปลี่ยน   ทั้งนี้ ใบกัญชามี THC ร้อยละ 0.8-1.0   ดอกติดเมล็ดจะมีสารดังกล่าว ร้อยละ 3-5   และดอกตัวเมียจะมีเตตราไฮโดรแคนาบินอล ถึงร้อยละ 8-15 แต่กฎหมายในประเทศไทยกำหนดให้สารสกัดที่มี THC เกินร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติด   ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นชัดเจนตรงกันว่าต้องการให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา แต่ไม่ได้ต้องการให้ผู้ใช้กัญชาเมาสาร THC ซึ่งมีมากในช่อดอก ในระดับที่เกินความเป็นยาเสพติดตามที่รัฐกำหนดไปมาก

 

 

 

เนื่องจากกัญชามีโทษจริงเช่นกัน เช่น การทำให้เกิดการเมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่แพ้กัญชา หรือทานไปมากโดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วและผิดจังหวะ ความดันไม่คงที่ หายใจเร็ว อารมณ์ครื้นเครง การเคลื่อนไหวไม่ประสาน หูแว่ว ระแวง สูญเสียการตัดสินใจที่ดี มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเยาวชน เป็นต้น 

 

 

ดังนั้น การออกแบบนโยบายกัญชาที่สามารถสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์และป้องกันโทษได้ หรือที่เรียกว่า “นโยบายกัญชาทางสายกลาง” จึงควรเป็นคำตอบที่ดีที่สุด   ไม่ใช่นโยบายที่ปิดห้ามการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เลย หรือการปล่อยให้ใช้กัญชาอย่างเสรีโดยไม่ควบคุมการใช้ในลักษณะที่ก่อให้เกิดโทษเลย  

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนโยบายกัญชาทั่วโลกมี 5 ลักษณะ คือ

 

1.กัญชาเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมาย ห้ามใช้กัญชาเลย ไม่มีข้อยกเว้นของการใช้ (Prohibition) ผู้ใดจำหน่าย ครอบครองหรือเสพกัญชาผิดหมด ต้องรับโทษทางอาญา  

 

2.กัญชายังเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมาย แต่ลดทอนความเป็นอาชญากรรมของกัญชา (Decriminalization) เช่น กำหนดให้ผู้เสพกัญชาโดนปรับ แต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา   แต่ผู้จำหน่ายกัญชายังต้องรับโทษหนักทางอาญา  

 

3.กัญชายังเป็นยาเสพติด แต่อนุญาตให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ (Medical Cannabis หรือ Cannabis for medical purpose) ได้แก่ การอนุญาตให้มีการจ่ายและเสพยากัญชาได้ หรือ อนุญาตให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และมีแพทย์ออกใบรับรอง สามารถที่จะปลูกกัญชาใช้เพื่อรักษาตนเองได้ แต่ต้องขออนุญาตตามระเบียบ เพื่อควบคุมไม่ให้คนทั่วไปปลูกใช้เพื่อความบันเทิง  

 

4.กัญชาไม่เป็นยาเสพติด แต่มีการควบคุมการใช้ในทางที่ผิดอย่างเข้มงวด (Legalization under strong control measures) เช่น จำกัดจำนวนการครอบครอง การห้ามเยาวชนเสพ การห้ามจำหน่ายให้เยาวชน การห้ามโฆษณา การห้ามขับขี่ยานพาหนะหากเสพกัญชา และการใช้มาตรการภาษีกัญชา เป็นต้น  

 

5.กัญชาไม่เป็นยาเสพติด และปล่อยให้เกิดกลไกการตลาดแข่งขันเสรี ปลูก จำหน่าย โฆษณา ได้อย่างเสรีหรือค่อนข้างเสรี (Legalization under free market) 

นโยบายทั้ง 5 ลักษณะนี้ มีสภาพเรียงจากคุมเข้มสุดโต่งไปจนกระทั่งเสรีสุดโต่ง ซึ่งแต่ละลักษณะก็ก่อให้เกิดประโยชน์และโทษแตกต่างกันไป

 

ซึ่งการออกแบบนโยบายกัญชานี้ เป็นความสามารถและวิสัยทัศน์ของผู้กำหนดนโยบาย และ ผู้กำหนดนโยบายจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบของนโยบายที่ตนผลักดันออกมา โดยจะอ้างผลดีของนโยบายกัญชาเสรีเป็นของตน แต่ผลเสียจากการใช้กัญชาในทางที่ผิดเป็นของประชาชนไม่ได้   

 

 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศไทยเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีโอกาสใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือปลดปล่อยจากนโยบายลักษณะที่ 1 ไปเป็นลักษณะที่ 3  แต่นโยบายที่ใช้ในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ โดยการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั้น เป็นนโยบายในลักษณะที่ 5 เนื่องจากมีผลให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถสูบช่อดอกเพื่อความบันเทิงได้ โดยไม่มีความผิดในฐานเสพยาเสพติดใด ๆ   ให้ปลูกในครัวเรือนโดยไม่จำกัดจำนวน   ให้ปลูกเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต   ให้ขายและโฆษณาเชิญชวนให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี   โดยไม่มีมาตรการป้องกันการแอบใส่กัญชาในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อจำหน่ายในท้องตลาด เป็นต้น 

 

 

ผลกระทบที่เริ่มทยอยปรากฏให้เห็นในสังคม   และในอนาคตอันใกล้ เมื่อต้นกัญชาหนึ่งล้านต้นออกดอกทั่วประเทศ จะเกิดผลกระทบมากมายเพียงใดจึงไม่อาจคำนวณได้  

 

 

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า คนไทยทั้งประเทศต้องยอมรับสภาพการออกแบบนโยบายเช่นนี้หรือ ?   ทำไมถึงไม่ใช้ “นโยบายกัญชาทางสายกลาง” แทน “นโยบายกัญชาเสรีสุดโต่ง ?” ทำไมประเทศไทยต้องรีบร้อนขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายกัญชาเสรีทั้งๆ ที่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่เพียงพอ ?   ทำไมประเทศไทยจึงไม่ฟังเสียงทุกฝ่ายอย่างรอบครอบ และร่วมกันออกแบบนโยบายกัญชาทางสายกลาง หรือต้องรอให้เกิดวิกฤตแล้วจึงค่อยมาร่วมกันหาคำตอบ และเมื่อถึงเวลานั้นแล้ว “เรา” จะแก้ไขปัญหาได้ทันการณ์จริง ๆ หรือไม่

 

 

ส่งข่าวได้ที่  email : saowaporn12345@gmail.com   ,  saowaporn@hotmail.com   และ  bat_mamsao@ yahoo.com

หน้าแรก » การศึกษา