วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 21:01 น.

ยานยนต์

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตรถยนต์

วันจันทร์ ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 13.55 น.
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส  เริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตรถยนต์
ที่โรงงานแหลมฉบัง มุ่งดำเนินธุรกิจสู่สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
 
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มใช้พลังงานแสงอาทิตย์        ในสายการผลิตรถยนต์อย่างเป็นทางการ ที่ศูนย์การผลิตรถยนต์มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ตอบรับแผนปฏิบัติการใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม (The New Environmental Plan Package) ระยะยาว 30 ปี ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น พร้อมวางแผนขยายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเฟสต่อไปที่โรงพ่นสีแห่งใหม่   ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทุกโครงการมากกว่า 6,100* ตันต่อปี มุ่งเสริมสร้างกระบวนการการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกขั้นของปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม ภายหลังการประกาศออกแบบโรงงานพ่นสีแห่งใหม่ที่ช่วยลดการปล่อย VOCs ในกระบวนการผลิต และการเปิดตัวรถยนต์ มิตซูบิชิ   เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี รถเอสยูวีพลังไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดระดับพรีเมี่ยม สมรรถนะสูงแต่ปล่อยมลพิษต่ำใน ประเทศไทย
 
มร. โมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิตรถยนต์มิตซูบิชิ ถือเป็นอีกหนึ่งในแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นถึงพันธะสัญญาของเราที่ต้องการจะสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการ
สร้างการเติบโตและความก้าวหน้าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านสังคม   และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กันไปในระยะยาว ซึ่งการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในสายการผลิตรถยนต์ที่โรงงานแห่ง  นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลในประเทศ ส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ โดยมีการวางแผนที่จะขยายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไปยังโรงงานพ่นสีแห่งใหม่ในอนาคต เพื่อให้เราสามารถที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทุกโครงการ ได้อย่างเป็นรูปธรรมกว่า 6,100* ตันต่อปี”
 
สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์มิตซูบิชิ ที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี นี้   เป็นส่วนหนึ่งภายใต้สัญญาจำหน่ายไฟฟ้ากับบริษัท อิมแพคท์ โซล่าร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (ISGT) ที่ทำหน้าที่   ในการเป็นผู้ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานที่มีกำลังการผลิตถึง 5 เมกกะวัตต์ โดยโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4,300* ตัน ต่อปี 
 
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิตรถยนต์มิตซูบิชิ ที่ศูนย์การผลิตรถยนต์มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม (The New Environmental Plan Package) ระยะยาว 30 ปี ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action to Climate Change) ปฏิบัติการด้านการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Resource Circulation) และปฏิบัติการด้านการลดหรือกำจัดการเกิดมลพิษ (Pollution Prevention) โดยวางเป้าหมายร่วมเป็นส่วนหนึ่งสู่อนาคตของการสร้างสังคมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 ด้วยแผนการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40% จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ๆ และอีก 40% จากการดำเนินธุรกิจของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น และการเพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 50% จากยอดจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิทั้งหมดในปี พ.ศ. 2573 
 
นอกเหนือจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ณ โรงงานแห่งนี้ ก่อนหน้านี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้มีการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดและต่อเนื่อง ด้วยการออกแบบโรงงานพ่นสีแห่งใหม่พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อย VOCs (Volatile Organic Compounds) หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย ให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนและทดแทนวัตถุดิบสีที่มี VOCs ต่ำ ประเภทสีฐานน้ำ (Waterborne Paint Material) ตลอดจนติดตั้งระบบกำจัด VOCs ประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดปริมาณ VOCs ได้ถึง 81% เพื่อลดการปล่อยมลพิษ ช่วยสร้างคุณภาพอากาศที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
 
พร้อมกันนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่มาช่วยตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมผลิตและเปิดตัวรถยนต์ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ซึ่งเป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดสัญชาติญี่ปุ่นรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 อีกทั้งยังสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในการส่งเสริมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการใช้งานรถไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นและชักจูงให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอีกด้วย