วันพุธ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:02 น.

ยานยนต์

โตโยต้าแถลงยอดขายตลาดรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2565 พร้อมคาดการณ์ตลาดรวมอยู่ที่ 880,000 คัน

วันอังคาร ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 07.06 น.
โตโยต้าแถลงยอดขายตลาดรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2565 พร้อมคาดการณ์ตลาดรวมอยู่ที่ 880,000 คัน
 
 
      
มร.โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยสถิติการจำหน่ายรถยนต์ครึ่งแรกของปี 2565 พร้อมคาดการณ์ตลาดรถยนต์ไทยปี 2565 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565
       
 
มร.ยามาชิตะ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรก ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่อยู่ในภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลน เซมิคอนดัคเตอร์ ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลโดยตรงต่อยอดการผลิตและต้นทุนการผลิตรถยนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออก รวมทั้งแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังปรับตัวสูงขึ้นและทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
       
 
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกจากการที่ภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และการดำเนินมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศ รวมถึงสัดส่วนของการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบเป็นปกติ ล้วนเป็นส่วนช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสะท้อนมายังตลาดรถยนต์ด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์จากงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ที่ผ่านมา ตลอดจนแรงกระตุ้นจูงใจผู้บริโภคด้วยแคมเปญการขายเชิงรุกของบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหลาย ล้วนมีส่วนผลักดันตลาดรถยนต์โดยรวมให้ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายตลาดรวมในช่วงครึ่งปีแรกอยู่ที่ 427,303 คัน เพิ่มขึ้น 14.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว" 
 
 
 “สำหรับผลการดำเนินงานของโตโยต้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มียอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้น 21.2% หรือ  คิดเป็นจำนวน 142,032 คัน มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 33.2% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เราสามารถกลับมาดำเนินการผลิตและส่งมอบรถให้ลูกค้าได้มากขึ้นภายหลังจากที่ได้มีมาตรการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ ตลอดจนความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของลูกค้ามีเพิ่มมากขึ้น และความสำเร็จจากการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เมื่อช่วงต้นปีในรุ่น Toyota Veloz ที่มียอดขายเฉลี่ยกว่า 1,000 คันต่อเดือน ทำให้โตโยต้าสามารถครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ได้ทั้ง ตลาดรถอีโคคาร์ และ ตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลาง”
 
       
สำหรับแนวโน้มตลาดรถยนต์ของปี 2565 มร.ยามาชิตะคาดการณ์ว่า “จากมาตรการผ่อนคลายและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้น และจะส่งผลบวกต่อทิศทางของตลาดรถยนต์ในปีนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะสามารถฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้นเราจึงคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2565 จะอยู่ที่ 880,000 คัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา" 
 
       
มร.ยามาชิตะ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับโตโยต้า เรามีเป้าหมายการขายในปี 2565 อยู่ที่ 290,000 คัน เพิ่มขึ้น 21 % จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 33% โดยเราเชื่อมั่นว่าแผนการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงแนวทางในการทำกิจกรรมทางการตลาดและการบริการที่เราพยายามมุ่งเน้นให้สามารถเข้าถึงและใกล้ชิดกับลูกค้าโตโยต้าได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าทั่วประเทศ จะมีส่วนช่วยให้เราได้รับความเชื่อมั่นและการสนับสนุนจากลูกค้าเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายของเราได้เป็นผลสำเร็จ"    
 
สำหรับปริมาณการส่งออกของโตโยต้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 บริษัทฯได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 179,730 คัน เพิ่มขึ้น 24.4% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยยอดการผลิตสำหรับการขายภายในประเทศและการส่งออกมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 308,734 คัน เพิ่มขึ้น 19.5% จากปีที่แล้ว 
 
 
ทั้งนี้สำหรับเป้าหมายการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของโตโยต้าในปีนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกจะอยู่ที่ 380,000 คัน เพิ่มขึ้น 29.8 % จากปีที่แล้ว จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าในปี 2565 มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยอยู่ที่ระดับ 659,400 คัน หรือเพิ่มขึ้น 28.3 % จากปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการขายของทั้งในประเทศและส่งออก 
 
 
       
 
มร.ยามาชิตะ ยังได้กล่าวอีกด้วยว่า “ตามที่โตโยต้าได้มีการประกาศเจตนารมณ์ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ว่าปีนี้ถือเป็นวาระสำคัญที่โตโยต้าครบรอบ 60 ปี ของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเรายังคงมุ่งมั่นที่จะส่งมอบความสุขให้กับคนไทยและเติบโตเคียงคู่ไปกับสังคมไทย ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่กับการเป็น "ผู้นำพาการขับเคลื่อนยุคใหม่ เพื่อเสริมสร้างความสุขของผู้คน และความยั่งยืนของสังคม” โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เราได้มีการดำเนินงานตามแนวทางพันธกิจใหม่ของเราในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งมอบความสุขให้แก่คนไทย
       
 
ในด้านผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับลูกค้า เราได้มีการเปิดตัวโครงการ TOYOTA ALIVE ที่เป็นจุดศูนย์รวมประสบการณ์แห่งความสุข ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีและบริการต่างๆของโตโยต้าได้อย่างครบวงจร เป็นแหล่งรวมกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ร่วมกับลูกค้าให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการร่วมมือกับหลากหลายพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อนำเสนอการให้บริการในรูปแบบต่างๆแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยี Connected มาใช้ผ่าน Digital Platform เพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ในทุกด้าน ในรูปแบบของ “Mobility as a Service” - MaaS ให้กับลูกค้า และนำเสนอเป็นบริการเพื่อมอบประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้าในทุกด้าน อาทิ ความปลอดภัย ประหยัด สะดวกสบาย และตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น
       
 
ในด้านสังคม โตโยต้ามุ่งเน้นการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ “ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมทั้งเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่ดี ตลอดจนความพยายามมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญของกลุ่มโตโยต้าทั่วโลก ผ่านการดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆ อาทิ เช่น โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะร่วมกับเมืองพัทยา ซึ่งโตโยต้าได้มีการนำรถยนต์พลังงานสะอาดทุกรูปแบบไปทดลองให้บริการเพื่อตอบสนองการเดินทางที่มีความหลากหลายแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา และมีแผนที่จะขยายผลการดำเนินงานเต็มรูปแบบในช่วงปลายปีนี้ รวมทั้งขยายผลการดำเนินงานของโครงการโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในการเปิดศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 3 ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจแก่วิสาหกิจชุมชนในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินโครงการ “การพัฒนาทักษะบุคลากรภายใต้ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ในการพัฒนาความรู้ ทักษะ และศักยภาพ ให้แก่บรรดาบุคลากรต่างๆ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ ตลอดจนการกิจกรรมยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนของโครงการ "โตโยต้า ถนนสีขาว" กับแผนการลดอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยปรับปรุงจุดเสี่ยงจำนวน 60 จุด ทั่วประเทศ เป็นต้น”
 
 
โตโยต้า ร่วมขับเคลื่อนอนาคต
 
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมิถุนายน 2565
 
 
1.)    ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 67,952 คัน เพิ่มขึ้น 4.6%                               
    อันดับที่ 1 โตโยต้า    21,026 คัน    ลดลง       5.9%    ส่วนแบ่งตลาด 30.9%
    อันดับที่ 2 อีซูซุ     20,146 คัน    เพิ่มขึ้น     42.9%    ส่วนแบ่งตลาด 29.6%
    อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ     4,815 คัน    เพิ่มขึ้น       22.1%    ส่วนแบ่งตลาด  7.1%
 
 
2.)     ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 19,598 คัน ลดลง 13%                               
    อันดับที่ 1 โตโยต้า     5,884 คัน    เพิ่มขึ้น     8.7%        ส่วนแบ่งตลาด 30.0%
    อันดับที่ 2 ฮอนด้า     2,518 คัน    ลดลง     60.8%        ส่วนแบ่งตลาด 12.8%
    อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ    2,068 คัน    ลดลง     34.3%        ส่วนแบ่งตลาด 10.6%
 
 
3.)    ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 48,354 คัน เพิ่มขึ้น 13.9%                               
    อันดับที่ 1 อีซูซุ        20,146 คัน    เพิ่มขึ้น      42.9%    ส่วนแบ่งตลาด 41.7%
    อันดับที่ 2 โตโยต้า    15,142 คัน    ลดลง      10.5%    ส่วนแบ่งตลาด 31.3%
    อันดับที่ 3 ฟอร์ด     2,756 คัน    เพิ่มขึ้น       1.3%        ส่วนแบ่งตลาด  5.7%
 
 
4.)    ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน  (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV) 
ปริมาณการขาย 37,619 คัน เพิ่มขึ้น 13.4%                  
    อันดับที่ 1 อีซูซุ         18,640 คัน    เพิ่มขึ้น      48.4%    ส่วนแบ่งตลาด 49.5% 
    อันดับที่ 2 โตโยต้า      12,629 คัน    ลดลง        12.7%    ส่วนแบ่งตลาด 33.6%
    อันดับที่ 3 ฟอร์ด       2,756 คัน    เพิ่มขึ้น        1.3%        ส่วนแบ่งตลาด  7.3%
    ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน: 4,186 คัน
  อีซูซุ 1,564 คัน - โตโยต้า 1,454 คัน – มิตซูบิชิ 671 คัน – ฟอร์ด 396 คัน – นิสสัน 101 คัน
 
 5.) ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 33,433 คัน เพิ่มขึ้น 13.9%                  
    อันดับที่ 1 อีซูซุ         17,076 คัน    เพิ่มขึ้น       49.5%    ส่วนแบ่งตลาด 51.1%
    อันดับที่ 2 โตโยต้า     11,175 คัน     ลดลง      12.0%    ส่วนแบ่งตลาด 33.4%
    อันดับที่ 3 ฟอร์ด       2,360 คัน    เพิ่มขึ้น       1.3%    ส่วนแบ่งตลาด  7.1%
 
 
 
สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม – มิถุนายน 2565
 
 
1.) ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 427,303 คัน เพิ่มขึ้น 14.5%                               
    อันดับที่ 1 โตโยต้า    142,032 คัน    เพิ่มขึ้น      21.2%    ส่วนแบ่งตลาด 33.2%
    อันดับที่ 2 อีซูซุ         109,889 คัน    เพิ่มขึ้น        18.0%    ส่วนแบ่งตลาด 25.7%
    อันดับที่ 3 ฮอนด้า     40,161 คัน    ลดลง         6.0%    ส่วนแบ่งตลาด  9.4%
 
 
2.) ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 135,900 คัน เพิ่มขึ้น 12.9%                                 
    อันดับที่ 1 โตโยต้า    38,894 คัน    เพิ่มขึ้น       30.9%    ส่วนแบ่งตลาด 28.6%
    อันดับที่ 2 ฮอนด้า    29,574 คัน    ลดลง        19.2%    ส่วนแบ่งตลาด 21.8%
    อันดับที่ 3 มาสด้า    12,111 คัน    เพิ่มขึ้น      11.2%    ส่วนแบ่งตลาด  8.9%
 
 
3.) ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 291,403 คัน เพิ่มขึ้น 15.3%                     
    อันดับที่ 1 อีซูซุ        109,889 คัน    เพิ่มขึ้น      18.0%    ส่วนแบ่งตลาด 37.7%
    อันดับที่ 2 โตโยต้า    103,138 คัน    เพิ่มขึ้น        17.9%    ส่วนแบ่งตลาด 35.4%
    อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ     16,292 คัน    เพิ่มขึ้น     11.8%    ส่วนแบ่งตลาด  5.6%
 
 
4.) ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV) 
    ปริมาณการขาย 227,842 คัน เพิ่มขึ้น 15.7%
    อันดับที่ 1 อีซูซุ        101,439 คัน    เพิ่มขึ้น      19.3%    ส่วนแบ่งตลาด 44.5%
    อันดับที่ 2 โตโยต้า     89,232 คัน    เพิ่มขึ้น        20.4%    ส่วนแบ่งตลาด 39.2%
    อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ     16,168 คัน    เพิ่มขึ้น        13.7%    ส่วนแบ่งตลาด  7.1%
    ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน : 29,586 คัน
    โตโยต้า 13,466 คัน – อีซูซุ 9,095 คัน – มิตซูบิชิ 4,154  คัน – ฟอร์ด 2,246 คัน –  นิสสัน 625 คัน 
 
 
5.) ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 198,256 คัน เพิ่มขึ้น 17.3%
    อันดับที่ 1 อีซูซุ         92,344 คัน    เพิ่มขึ้น        22.1%    ส่วนแบ่งตลาด 46.6%
    อันดับที่ 2 โตโยต้า     75,766 คัน    เพิ่มขึ้น         22.5%    ส่วนแบ่งตลาด 38.2%
    อันดับที่ 3 ฟอร์ด      12,655 คัน    ลดลง          8.0%    ส่วนแบ่งตลาด  6.4%