วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 12:33 น.

กทม-สาธารณสุข

ครึ่งเดือนแรกของปี ความรุนแรงพุ่ง เรียงแถวฆาตรกรรม หนักสุดฆ่ายกครัว

วันศุกร์ ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2562, 13.59 น.

ครึ่งเดือนแรกของปี ความรุนแรงพุ่ง เรียงแถวฆาตรกรรม หนักสุดฆ่ายกครัว

 

อึ้ง!! ครึ่งเดือนแรกของปี ความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงลิ่ว เรียงแถวฆาตรกรรม หนักสุดถึงฆ่ายกครัว เหตุหึงหวง แค้น เมา ยาเสพติดมีเอี่ยว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุผู้หญิงเป็นเหยื่อเพิ่มต่อเนื่อง ตำรวจชี้ไม่ใช่สภาวะปกติ แนะสื่อตระหนัก ไม่ขยาย ซ้ำเติมละเมิดสิทธิ ย้ำทำตาม กม. ฝ่าฝืนเจอคุก 
          
 
วันที่18ม.ค.62 ในเวทีเสวนา “วิกฤตความสัมพันธ์ในครอบครัว สู่ฆาตกรรมและความรุนแรง” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และคณะทำงานปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ที่เดอะฮอลล์ บางกอก
         
 นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เพียงครึ่งเดือนแรกของปี 2562 พบว่า สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นจนผิดปกติ ข่าวฆาตกรรม ฆ่ายกครัว ฆ่าหึงหวง เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวนข่าวที่พุ่งสูงอาจเป็นเพราะสื่อให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวเช่นนี้มากขึ้น และมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อกล้าออกมาพูดถึงปัญหานี้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้จากข้อมูลที่มูลนิธิรวบรวมจากข่าวในครึ่งเดือนแรกของปี2562 ที่ผ่านมา พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง28ข่าว  เป็นข่าวฆ่าคนในครอบครัว 20ข่าว ฆ่าตัวตาย4ข่าว และถูกทำร้ายสาหัส4ข่าว  พบว่าเกือบครึ่งใช้ปืนเป็นอาวุธ  ทั้งนี้กว่า 41%มาจากความหึงหวงขอคืนดีไม่สำเร็จ  19% เมา เสพยา อย่างไรก็ตามข่าวฆ่ากันตายเฉลี่ยในช่วงครึ่งเดือนของปี 2561 พบเพียง10ข่าว  เมือเทียบกันพบว่าสูงขึ้นเท่าตัว
   
นายจะเด็จ กล่าวว่า สาเหตุที่ก่อให้เกิดความรุนแรง คือ เมื่อเกิดเหตุที่จะนำไปสู่อาชญากรรมได้ ตำรวจกลับไม่ยอมเข้ามาจัดการ ยังคงเน้นเพียงไกล่เกลี่ย ทั้งที่ควรต้องควบคุม ห้ามปราม แจ้งข้อกฎหมายให้รับทราบ ไม่อย่างนั้นผู้ชายจะไม่ยอมหยุดกระทำ ได้ใจและนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีหลายกรณีที่คนหรือชุมชนไม่เข้าไปช่วย มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว รวมถึงสาเหตุที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติดเข้ามากระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ลุกลามมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเห็นว่าสังคมสมัยนี้การสื่อสารพูดคุยในครอบครัวน้อยลง หันไปใช้สื่อโซเชียลมากขึ้น อารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่ายก็ตามมา ทำให้ปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  
            
“สถานการณ์ตอนนี้เป็นเหมือนสงครามอาชญากรรมขนาดใหญ่ และทวีความรุนแรง เพราะมีการใช้อาวุธปืน มันเป็นเรื่องของความตาย แต่รัฐกลับนิ่งเฉย ทางออก คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรตื่นตัว มีหน่วยงานเฝ้าระวัง ตั้งวอร์รูมเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์แต่ละพื้นที่ บูรณาการกับหน่วยงานทุกฝ่าย เช่น มท. สธ. ตำรวจ และหน่วยงานแจ้งเหตุ ทั้งตำรวจ และ1300 ต้องทำเร่งด่วน ช่วยเหลือได้ทันที ไม่ใช่ปล่อยไว้จนเกิดเหตุสูญเสีย มียุทธวิธีในการระงับเหตุอย่างมืออาชีพ ส่วนหากจะให้ได้ผลจริงต้องทำงานระยะยาวรณรงค์ปรับเปลี่ยนวิธีคิดชายเป็นใหญ่ เคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ทำหลักสูตรตั้งแต่ชั้นเรียนประถม ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นใบอนุญาตให้สามีหรือผู้ชายที่เป็นคู่รักทำอะไรก็ได้ ซึ่งผู้หญิง หรือคนในครอบครัวไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของผู้ชาย สังคมต้องช่วยกันเฝ้าระวัง คอยจับสัญญาณ แทรกแซง  หรือแจ้งเหตุโดยเร่งด่วน ถ้าปล่อยไว้ก็จะเป็นโศกนาฎกรรมรายวัน ส่งผลต่อเยาวชนที่ซึมซับความรุนแรง และสิ่งนี้จะย้อนกลับมาสู่สังคม” นายจะเด็จ กล่าว 
          
พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุบผากาญจน ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวทวีความรุนแรงมากขึ้น และไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ขณะนี้มีการนำเสนอข่าวสารออกไปเป็นจำนวนมาก จนไม่ใช่ภาวะปกติ เท่ากับเป็นการซ้ำเติมส่งเสริมไปในตัว ยกตัวอย่างเคสที่ตนเคยทำคดี ยายมาร้องทุกข์อาข่มขืนหลาน และนักข่าวไปสัมภาษณ์ยาย แม้ในเนื้อหาข่าวไม่เปิดเผยชื่อเด็ก แต่ระบุชื่อยาย จนทำให้อาจารย์ในโรงเรียนรู้ว่าเด็กคนนั้นคือใคร และถูกเรียกไปถาม2-3รอบ และเพื่อนทั้งโรงเรียนก็รับรู้ จนเด็กบอบช้ำไม่อยากไปเรียนอีกเลย เป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ชีวิตของเด็กผู้เสียหาย 
            
“ในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นแล้วโดยเฉพาะกับเด็ก อยากฝากให้สื่อช่วยตระหนักในการนำเสนอข่าว ให้รอบครอบ อย่าละเมิดสิทธิ ส่วนสังคมชุมชนต้องเป็นหูเป็นตา ก่อนที่จะเกิดเหตุ ช่วยจับสัญญาณความผิดปกติ  สัญญาณความเสี่ยง เพื่อหากลไกเข้าไปช่วยเหลือหยุดการกระทำอย่างมีสติ ไม่ใช่เข้าไปเพื่อประจาน อย่าลืมว่าเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ต้องการเยียวยารักษาครอบครัวไว้ และคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำ และมาตรา 9 ระบุเรื่องการควบคุมการนำเสนอข่าวของสื่อเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง คือ ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะไม่ว่าจะเป็นข้อมูลใดๆ ทั้งภาพ เรื่องราว อันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พ.ต.อ.เผด็จ กล่าว
            
ขณะที่ นายอำนาจ แป้นประเสริฐ แกนนำชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า เมื่อ5ปีก่อน เคยใช้ความรุนแรงในครอบครัวมาก่อน ตอนนั้นติดเหล้าดื่มจนเมาทุกวัน เคยโมโหบีบคอภรรยาเกือบขาดใจตาย และใช้ความรุนแรงบ่อยครั้ง กระทั่งตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง จากผู้ใช้ความรุนแรง มาเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ลุกขึ้นมาปกป้องและแก้ไขปัญหาความรุนแรง รวมถึงส่งเสริมความตระหนักและเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงภายในครอบครัวและสิทธิสตรีอย่างจริงจัง ล่าสุดได้เคยไปช่วยเหลือเคสแม่ถูกลูกชายแท้ๆข่มขืน วันไหนไม่ยอมจะทุบตี ทำร้ายร่างกายทุกวัน จึงได้ประสานมูลนิธิ เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับลูกชาย ส่วนแม่ก็พาไปรักษาตัวเพราะมีการติดเชื้อ และคอยช่วยเหลือเยียวยาสภาพจิตใจมาต่อเนื่อง หากไม่เข้าไปช่วยเหลือ ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียในตอนนั้น
            
“กว่า 90%ผู้ที่กระทำจะเป็นคนใกล้ตัว ดังนั้นหากทุกคนในสังคมลุกขึ้นมาช่วยไม่นิ่งเฉย ร่วมสังเกต ถามไถ่ หรือคอยเป็นหูเป็นตา ไม่ปล่อยปละละเลย ช่วยแจ้งเหตุไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็เชื่อว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวจะลดลง” นายอำนาจ กล่าว

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข