วันอังคาร ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567 12:26 น.

กทม-สาธารณสุข

สวช.เร่งพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเพื่อผลิตในประเทศ

วันอังคาร ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 13.03 น.

สถาบันวัคซีนฯเผยความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเพื่อผลิตในประเทศไทย เร่งวัคซีนต้นแบบให้มีส่วนประกอบครบทั้ง 4 สายพันธุ์ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อให้ใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้จริง

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก และเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศแถบร้อนชื้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรวมทั้งประเทศไทย ในแต่ละปีคร่าชีวิตคนไทยจำนวนไม่น้อย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2562 พบผู้เสียชีวิตแล้ว 43 ราย ป่วย 2.8 หมื่นคน ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี ถือว่าอยู่ในกลุ่มผู้นำในการวิจัยพัฒนาวัคซีนนี้

“ปัจจุบันวัคซีนที่กำลังทดสอบในคน และมีแนวโน้มว่าน่าจะมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้ในวงกว้างต่อไปนั้น ล้วนมีสายพันธุ์ตั้งต้นไปจากผลการวิจัยพัฒนาของมหาวิทยาลัยมหิดล  ขณะเดียวกันนักวิจัยในประเทศก็ยังทำการพัฒนาวัคซีนต้นแบบอยู่ ให้ได้วัคซีนที่มีส่วนประกอบครบทั้ง 4 สายพันธุ์ และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อให้ใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้จริง”

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า จากข้อจำกัดต่าง ๆ ในอดีตที่ทำให้การพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ สถาบันวัคซีนแห่งชาติอยู่ระหว่างการทบทวนและหาแนวทางที่จะทำให้การพัฒนาวัคซีนนี้มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว โดยจะมีการคัดเลือกชุดวัคซีนชุดหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ในการเป็นวัคซีนที่ใช้ได้จริง เพื่อระดมสรรพกำลังในการพัฒนาจนขึ้นทะเบียนแล้วนำสู่การใช้ในประเทศ ซึ่งอาจเป็นวัคซีนที่พัฒนาตั้งต้นจากไทย หรือวัคซีนที่เข้าใกล้ความสำเร็จแล้วเราไปเจรจาขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ได้ เพื่อร่นระยะเวลาในการพัฒนาให้เร็วขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้กับประชากรไทยได้อย่างมีประสิทธิผล

นพ.นคร กล่าวด้วยว่า การดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เช่น การพัฒนาวัคซีนต้นแบบ เทคโนโลยีการผลิต การควบคุมคุณภาพวัคซีนตลอดทั้งกระบวนการผลิต การวางแผนทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เลือดออก เป็นต้น ตลอดจนการคัดเลือกวัคซีนชุดที่มีความเหมาะสม เพื่อผลักดันให้วัคซีนไข้เลือดออกชนิด 4 สายพันธุ์ สู่การผลิตในประเทศได้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติฯ