วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 01:56 น.

กทม-สาธารณสุข

ปัญหาขยะ !! ใครควรรับผิดชอบ ?

วันจันทร์ ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 06.34 น.

ปัญหาขยะ !! ใครควรรับผิดชอบ ?

 

ขยะ..นับวันจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของประชากร โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน เรามาลองนึกภาพตามว่า หากไม่มีการกำจัดที่เหมาะสมแล้ว จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์และสภาพแวดล้อมอย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนเราอาจเห็นภาพภูเขาขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์พาหะนำโรค เกิดกลิ่นเหม็นและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนใกล้เคียง ทำให้เกิดความสกปรก ทัศนียภาพไม่สวยงาม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต การท่องเที่ยว เศรษฐกิจและสังคมเมือง นอกจากนี้ ขยะบางส่วนที่ถูกทิ้งลงในคลองหรือทางระบายน้ำ ยังปิดกั้นการไหลของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง แหล่งน้ำสกปรกเน่าเสียอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษได้รายงานว่า ในปี 2561 ประชากร 1 คน ผลิตขยะประมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้น ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันรับผิดชอบ เพราะทุกคนล้วนเป็นผู้ผลิตขยะในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น

 

 

ในปี 2561 กรุงเทพมหานครมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดขยะทั้งระบบเป็นเงินสูงกว่า 7 พันล้านบาท แต่จัดเก็บค่าธรรมเนียมได้เพียง 523 ล้านบาท คิดเป็น 7% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ประกอบกับค่าธรรมเนียมขยะที่จัดเก็บในปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 หรือนานกว่า 14 ปีแล้ว ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพของเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อวิเคราะห์ถึงระดับบ้านเรือนทั่วไปจะพบว่า “บ้าน 1 หลัง มีสมาชิก 4 คน จะผลิตขยะเฉลี่ย 4 กิโลกรัมต่อวัน หรือ คิดเป็น 120 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเก็บขนและกำจัดขยะอยู่ที่ 228 บาทต่อเดือน โดยแยกเป็นค่าเก็บขน 130 บาท ค่ากำจัด 98 บาท/เดือน” แต่กรุงเทพมหานครจัดเก็บค่าธรรมเนียมแค่เพียง 20 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 9 ของต้นทุนค่าใช้จ่าย จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงถึง 208 บาทต่อเดือนต่อบ้าน (หรือร้อยละ 91)

 

 

ค่าธรรมเนียมใหม่เริ่มใช้เมื่อไหร่? ค่าธรรมเนียมใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป โดยบ้านเรือนทั่วไป ค่าเก็บขนมูลฝอย เดือนละ 40 บาท และค่ากำจัดมูลฝอย อีกเดือนละ 40 บาท รวม 80 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของค่าใช้จ่าย โดยกรุงเทพมหานครจะนำเงินค่าธรรมเนียมที่เก็บได้ไปใช้พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการขยะ เช่น การเพิ่มอุปกรณ์และยานพาหนะเพื่อให้บริการเก็บขนขยะได้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่ การสร้างระบบแปรรูปและใช้ประโยชน์จากขยะที่แหล่งกำเนิด รวมถึงการส่งเสริมระบบกำจัดขยะที่ผลิตพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำไปพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสร้างแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เช่น สร้างสวนสาธารณะ ลานกีฬา รวมทั้งการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น การขยายโอกาสการศึกษาสำหรับคนทุกระดับ ด้วยการสร้างห้องสมุดชุมชน และการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนเมือง เช่น จัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ติดตั้งกล้องวงจรปิดและไฟส่องสว่างเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน

         

 

 

อย่างไรก็ตาม การชำระค่าธรรมเนียมขยะถือเป็นหน้าที่ของประชาชนที่รับบริการตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ดังนั้นการที่ประชาชนชำระค่าธรรมเนียมขยะ จะเป็นการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวท่านเอง และลูกหลานในอนาคตให้ดีขึ้นต่อไป.

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข