วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 17:00 น.

กทม-สาธารณสุข

สสส.ระดมพลังคนรุ่นใหม่ปั้นนวัตกรรมสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน

วันอังคาร ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 23.00 น.

สสส.ระดมพลังคนรุ่นใหม่ เปิดเวที ThaiHealth Inno Awards ปี 2 คิดเปลี่ยนโลก “นวัตกรรมเสริมสุขภาพ” สร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ และจากความสำเร็จของโครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Inno Awards) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก และมีผลงานที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้และต่อยอดเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะอย่างได้ผลสำเร็จในหลายพื้นที่

เพื่อเป็นการปลูกฝังและสร้าง “นวัตกร” รุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ดำเนินงานโครงการประกวดผลงาน โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Inno Awards) ครั้งที่ 2  โดยได้รับสมัครตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีเยาวชนทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาเข้าร่วมส่งผลงานและโครงการเข้าประกวดมากถึง 129 โครงการ

ต่อมาในวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการคัดเลือกโครงการที่ส่งเข้าประกวด โดยมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสุขภาพหลายท่านร่วมพิจารณาคัดเลือกผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย เพื่อคัดกรองทีมเยาวชนจากทั้งระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาไปร่วมกิจกรรม Workshop เพื่อติดอาวุธไอเดียให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็น “เมล็ดพันธุ์นวัตกรสร้างเสริมสุขภาพ” ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถด้านการวิจัย ประดิษฐ์ คิดค้น สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมให้สามารถใช้ได้จริง เพื่อสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ

“สสส. สนใจและอยากให้เยาวชนมีไอเดียใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ทางด้านสุขภาพ เป็นการเน้นนวัตกรรมสร้างเสริม ป้องกันโรค ลดความเสี่ยง และเสริมสร้างสุขภาพ แต่ไม่ใช่นวัตกรรมของการรักษาโรค ซึ่งเมื่อได้รับการคัดเลือก เราจะจัด Workshop เติมเต็มทางด้านเทคนิคต่างๆ ให้เพื่อให้เยาวชนสามารถพัฒนาไอเดียให้สำเร็จเป็นรูปธรรม” ดร.ณัฐพันธ์ ศุภภา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สสส. หนึ่งในคณะกรรมการอธิบายวัตถุประสงค์

ด้วยการคัดกรองเบื้องต้น โดยการคัดเลือกโครงการที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์คือ “เป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ” และ “เป็นนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ซึ่งได้ทีมระดับมัธยมศึกษาเข้ารอบ 24 ทีมและทีมระดับอาชีวศึกษาอีก 15 ทีม

โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญได้คัดเลือกเหลือฝ่ายละ 10 ทีมโดยใช้เกณฑ์การพิจารณา 5 ด้านคือ วัตถุประสงค์ เทคนิค ความคิดสร้างสรรค์ ประโยชน์ใช้สอย และการนำเสนอผลงาน ซึ่งทั้งคณะกรรมการฝ่ายมัธยมและอาชีวะล้วนหนักใจเนื่องจากแต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบก็มีจุดเด่นจุดด้อยไม่แตกต่างกันมากนัก สุดท้ายได้รายชื่อทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบจำนวน 18 ทีมดังนี้

ระดับอาชีวศึกษา ประกอบไปด้วย 1.ทีมลูกพระวิษณุ วิทยาลัยการอาชีพไชยา 2.ทีมนักประดิษฐ์ วก.ไชยา วิทยาลัยการอาชีพไชยา 3.ทีม NTR.02 วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ 4.ทีมต้นยางสารภี วิทยาลัยเทคนิคสารภี 5.ทีม Glass Tower วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร 6.ทีม CMVC Healthy Plus วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ 7.ทีม NTR. 01 วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ 8.ทีม EP SKTC วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว

ระดับมัธยมศึกษา ประกอบไปด้วย 1.ทีม Elderly Health Food โรงเรียนธิดาแม่พระ 2.ทีม AD Astra (ไปสู่ดวงดาว) โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.ทีม Boripat Health Care โรงเรียนแม่สะเรียง "บริพัตรศึกษา" 4.ทีม Companion Tiger โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี 5.ทีม Hero on Earth from RJ116 โรงเรียนราชินี 6.ทีม LKS Genius โรงเรียนลำปางกัลยาณี 7.ทีม P.W. Inventors โรงเรียนปลาปากวิทยา 8.ทีม Safe Zone โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี 9.ทีม Lady wolves Swing Arm โรงเรียนศึกษานารี 10.ทีม สามสาวสวย โรงเรียนปลาปากวิทยา

“ครั้งที่แล้ว โครงการต่างๆ ที่ส่งเข้าประกวดมักเป็นโครงการที่เกิดผลสำเร็จแล้ว ซึ่งแตกต่างกับปีนี้ ที่โครงการที่ได้รับการคัดเลือกส่วนใหญ่ยังเป็นคอนเซ็ปต์ ซึ่งจะมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน” ปรีชภาวรรณ ไตรพรยุวสิน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนาธุรกิจ ให้ข้อสังเกต

“โครงการที่นำเสนอคอนเซ็ปต์อาจจะก้าวไปไม่ได้ไกลจนกลายเป็นผลสำเร็จที่ดี แต่ก็มีความยืดหยุ่นที่จะพัฒนาไปได้กว้างขวางกว่าโครงการที่มีผลสำเร็จแล้ว” ชุติกา อุดมสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านนักวางแผนนวัตกรรมกล่าวเสริม

นั่นคือข้อคิดเห็นของกรรมการทั้งสองท่านซึ่งเคยเป็นกรรมการของการประกวดในครั้งแรก และเมื่อรวมกับมุมมองของ บัณฑิต ปัทวีคงคา ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัย ที่ระบุว่า การสร้างนวัตกรรมใดๆ ก็ตามจะต้องเข้าถึงความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งการที่ สสส. ให้ความสนใจและเน้น ความคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) เป็นสิ่งที่ดี เพราะ Design thinking ทำให้เกิดการรับรู้ในเชิงลึกรอบด้านว่า แท้จริงแล้วผู้ใช้ต้องการอะไร เป็นการสังเคราะห์ข้อมูลอย่างครอบคลุมและตอบโจทย์ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าหากเราสามารถปลูกฝังให้เยาวชนมีความคิดแบบ Design thinking

“เด็กควรเริ่มด้วยการตีโจทย์ให้แตกว่าอะไรคือปัญหาจริงๆ และเมื่อทราบปัญหา ก็ต่อด้วยการตั้งคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น เป็นการฝึก คิดเชิงวิจารณญาณ (Critical Thinking) มากกว่าการตัดสินปัญหาด้วยอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะเป็นวิธีคิดที่จะหาคำตอบได้ในทุกเรื่องและทุกระดับ” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยกล่าวสรุป

จากเป้าหมายของ สสส. และความมุ่งมั่นของกรรมการ มองผ่านไปยัง 18 โครงการของเหล่าเยาวชนมัธยมและอาชีวศึกษา ที่มีทั้งการพัฒนาสื่อ เครื่องมือ และกระบวนการที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ทางด้านสร้างเสริมสุขภาพทั้งในระดับจุลภาคไปจนถึงมหภาค อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมทันสมัยแต่เรียบง่ายที่สามารถตอบโจทย์แก่ผู้ใช้งานได้อย่างรอบด้าน

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข