วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 07:52 น.

กทม-สาธารณสุข

ก.แรงงาน ชวนวัดทักษะฝีมือ สู้ค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งศูนย์ทดสอบทั่วประเทศ

วันศุกร์ ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 15.35 น.

ก.แรงงาน ชวนวัดทักษะฝีมือ สู้ค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งศูนย์ทดสอบทั่วประเทศ

 


ก.แรงงาน ชวนวัดทักษะรับค่าจ้างตามฝีมือเมินค่าจ้างขั้นต่ำ กระจายศูนย์ทดสอบกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ


นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวน 6 บาท ใน 9 จังหวัด และ 5 บาท ในอีก 68 จังหวัด ส่งผลให้ค่าจ้างสูงสุดอยู่ที่ 336 บาท ส่วนต่ำสุด 313 บาทนั้น อาจส่งผลให้มีสถานประกอบกิจการและแรงงานบางส่วนได้รับผลกระทบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือ ในส่วนกพร.ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ เร่งเชิญชวนกำลังแรงงาน พนักงานในสถานประกอบกิจการ และประชาชนทั่วไป เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อวัดทักษะรับค่าจ้างตามฝีมือ ซึ่งอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่นายจ้างและสถานประกอบกิจการใช้เป็นเกณฑ์คัดเลือกแรงงานเข้าทำงาน หรือปรับเลื่อนตำแหน่งงานต่างๆ อย่างเหมาะสม


นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแล้ว 83 สาขา เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก และช่างเชื่อมแม็ก ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 ไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท และระดับ 3 ไม่น้อยกว่าวันละ 600 บาท ส่วนช่างเชื่อมทิก ระดับ 1 จะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไม่น้อยกว่าวันละ 455 บาท ระดับ 2 ไม่น้อยกว่าวันละ 615 บาท และระดับ 3 สูงถึง 775 บาท ด้านก่อสร้าง อาทิ ช่างมุงหลังคากระเบื้องคอนกรีต ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 ไม่น้อยกว่าวันละ 510 บาท ระดับ 3 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 620 บาท ด้านช่างยนต์ อาทิ ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 460 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 560 บาท ระดับ 3 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 650 บาท ส่วนของภาคบริการ อาทิ พนักงานนวดไทย ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 440 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 580 บาท ระดับ 3 ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าวันละ 720 บาท ซึ่งอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการปรับขึ้น ดังนั้น หากแรงงานมีทักษะฝีมือได้มาตรฐานใน 83 สาขาดังกล่าวจะได้รับค่าจ้างตามประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ หากผู้ว่าจ้างไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดตามกฎหมาย 


“กพร.มีหน่วยงานที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคทั้ง 77 จังหวัด เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และอนุญาตให้สถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน ที่มีความพร้อมทั้งสถานที่และบุคลากร เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้วย เพื่อให้บริการแก่แรงงานและประชาชนได้อย่างทั่วถึง ปัจจุบันมีจำนวน 576 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 265 แห่ง ภาคเอกชนอีก 311 แห่ง ผู้สนใจเข้ารับการทดสอบฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0 2245 4837, 0 2245 1707 ต่อ 718 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดีกพร. กล่าว

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข