วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 06:33 น.

กทม-สาธารณสุข

ที่แรกของเชียงใหม่ "อนุทิน" เปิดคลินิกกัญชา รพ.นครพิงค์

วันพุธ ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563, 16.27 น.

ที่แรกของเชียงใหม่ "อนุทิน" เปิดคลินิกกัญชา รพ.นครพิงค์ ประชาชน - อสม.แห่ขอถ่ายเซลฟี่

วันที่ 15 มกราคม 2563 ที่ จ.เชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่  โดยกล่าวว่า ตนเดินหน้านโยบายเพื่อให้กัญชา เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชา เข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาได้อย่างปลอดภัย จากทีมรักษาที่ผ่านการฝึกอบรม  ด้วยสารสกัดกัญชาที่ผลิตผ่านมาตรฐานความปลอดภัย

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลที่พร้อมจัดให้มีบริการกัญชาทางการแพทย์ดำเนินการเพื่อรักษาบางโรคหรือบางอาการที่ได้รับการพิสูจน์ทางหลักวิชาการแล้วว่าสามารถรักษาด้วยสารสกัดกัญชา  ปัจจุบัน มี 5 กลุ่มโรคได้แก่โรคลมชักในเด็ก โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทสื่อมแข็ง อาการคลื่นไส้อาเจียนจากการใช้ยาเคมีในผู้ป่วยมะเร็ง และรักษาด้วยตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม 

โดยแพทย์แผนไทยได้แก่อาการ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ลมจุกเสียด ปวดศีรษะข้างเดียว ไมกรน อาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ อาการปวดตึงเรื้อรัง อาการสั่นจากกลุ่มโรคประสาท อัมพฤกษ์อัมพาต

"การดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนด้วยสารสกัดจากกัญชาและยาตำรับแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชา จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้แก่ประชาชน และหวังว่าคลินิกกัญชาของโรงพยาบาลนครพิงค์จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างปลอดภัย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคลินิกกัญชาทางการแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์  เป็น 1ใน 37 แห่ง ตามแผนการขยายบริการในระยะที่ 4 นับเป็นแห่งแรกของจ.เชียงใหม่ มีบริการคู่ขนานทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนสารสกัดกัญชาจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีทีมรักษาผ่านการอบรมหลักสูตรของกรมการแพทย์125 คน ประกอบด้วย แพทย์ 39คน ทันตแพทย์ 3คนเภสัชกร 30คนพยาบาลวิชาชีพ  49คนและแพทย์แผนไทย 4คน ให้บริการให้คำปรึกษา ตรวจคัดกรอง วินิจฉัยผู้ที่มีข้อบ่งชี้ในการใช้กัญชาทางการแพทย์  ให้บริการทุกวันพุธ เวลา 13.00 น.- 16.30 น. ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าคัดกรองแล้ว  22 คน ส่วนใหญ่ มีอาการนอนไม่หลับ อัมพฤกษ์ อัมพาต มะเร็งระยะประคับประคอง

ทั้งนี้ ระหว่างที่นายอนุทินร่วมพิธีเปิดคลินิกกัญชา ได้มีประชาชน และกลุ่ม อสม.เข้ามาทักทาย และขอถ่ายรูปด้วยเป็นจำนวนมาก

พร้อมกันนี้นายอนุทิน พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันเก็บเกี่ยวดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยช่อดอกแรก พร้อมปลูกกัญชานอกโรงเรียนเชิงอุตสาหกรรม ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์องค์การเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่กำลังเดินหน้ากันอยู่นี้ เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ แต่มาถึงปัจจุบัน สามารถสยบข้อครหาเหล่านั้นได้ เพราะได้ความร่วมมือจากนายแพทย์ และบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยมีคนจำนวนมากที่ประสบความทุกข์จากการนอนไม่หลับ ไมเกรน พาร์กินสัน มะเร็ง ลมชัก ทั้งหมดต้องการทางเลือกในการรักษา ซึ่งกัญชา คือหนึ่งในทางเลือกนั้น อาจจะรักษาไม่หายขาด แต่การได้กินอื่น นอนหลับ ก็ย่อมดีกว่าต้องทุกข์ทรมาณ

ที่ผ่านมาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้นโยบายเดินต่อไปได้ ล่าสุดให้ภาครัฐทำ MOU กับ ม.แม่โจ้ พัฒนาการปลูกทั้งในโรงเรือน นอกโรงเรือน หวังจะให้เป็นต้นแบบให้ประชาชนปฏิบัติตาม ถ้าสารสกัดจากกัญชาที่ผลิตโดยภาครัฐ ได้รับความนิยม อนาคตเราจะเห็นความร่วมมือระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย กัญชาจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ

การที่นโยบายได้รับความร่วมมือจากนายแพทย์ และบุคลากรในกระทรวงจึงส่งผลให้เกิดความสำเร็จเป็นรูปธรรม ตอนนี้เปิดคลินิกกัญชาแผนไทยที่กระทรวงฯ มีคนมาจองคิวรักษา 7-8 พันคน และเพิ่มขึ้นทุกวัน ถือว่าประสบความสำเร็จ ที่นี่แพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันต้องบูรณาการการทำงาน ส่วนคนไข้ที่มารับบริการ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการรักษาได้ผล สิ่งที่สมควรเกิดขึ้นในอนาคตคือให้สังคมมองว่ากัญชาคือยา ถ้าใช้ถูกวิธีก็รักษาโรคได้

ทั้งนี้ เคยคุยกับชาวต่างชาติซึ่งอยู่ในประเทศที่กัญชาถูกกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลว่าการจะให้กัญชาเป็นที่ยอมรับต้องควบคุมกัญชาให้อยู่ในกรอบ รู้ว่าปลูกพันธุ์ไหน ใครปลูก ปลูกเท่าไร คุณภาพเป็นอย่างไร

"สำหรับนโยบาย 6 ต้น กฎหมายอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร การเป็นผู้แทนราษฎร ทำงานเพื่อประชาชน ก็ไม่ควรขัดขวางสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ก็หวังว่ากฎหมาย 6 ต้น จะผ่านสภาอย่างเร็วที่สุด"

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ช่อดอกกัญชาแห้งที่ปลูกโดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตขององค์การเภสัชกรรม ถูกจัดส่งตามแนวทางมาตรฐานการขนส่งที่ดี หรือจีดีพี  (GDP -Good Distribution Practice) และมาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี หรือจีเอสพี (GSP -Good Security Practice) มีการทวนสอบกลับได้ ตั้งแต่ปลายทางจนถึงต้นทาง ทั้งปริมาณ สภาพแวดล้อม การควบคุมอุณหภูมิ ระบบความปลอดภัยระหว่างการขนส่ง มีระบบการบันทึกเพื่อให้มั่นใจว่าตลอดเส้นทางที่ขนส่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรักษาคุณภาพของวัตถุดิบก่อนเข้าสู่กระบวนการตรวจวิเคราะห์และผลิตต่อไป 

นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ดอกกัญชาแห้งที่เก็บเกี่ยวครั้งนี้จะผลิตเป็นสารสกัดกัญชาแบบหยดใต้ลิ้น มีอัตราส่วน THC ต่อ CBD เป็น 1 ต่อ 1 บรรจุขวดขนาด 5 ซีซี ได้ประมาณ 180,000 ขวด และจะประสานกับกรมการแพทย์เพื่อผลิตในปริมาณสัดส่วนของสารสำคัญตามความต้องการใช้กับผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย ด้วยกระบวนที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อให้ผู้สั่งใช้มีความมั่นใจ 

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์จะนำผลิตภัณฑ์กัญชาตาม มาตรฐานทางการแพทย์จากองค์การเภสัชกรรม ไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามแนวปฏิบัติทางคลินิกที่ดี หรือจีซีพี (GCP-Good Clinical Practice) รวมถึงการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด กล้ามเนื้อหดเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท โรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน เป็นต้น รวมทั้งใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากนี้ ได้วางแผนร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและหน่วยงานต่างๆ ในการสกัดให้ได้ผลิตภัณฑ์กัญชาชนิด CBD เด่น เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักที่รักษายาก และโรคที่จำเป็นต้องใช้ CBD ในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโรคอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เกิดประโยชน์สูงสุด มีความปลอดภัย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้น เป็นการเริ่มต้นเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยที่ปลูกระดับอุตสาหกรรมในโรงเรือน (Indoor) แห่งแรกของอาเซียนจำนวน 12,000 ต้น ปลูกเมื่อเดือนกันยายน 2562 ซึ่งได้ทยอยเจริญเติบโตสมบรูณ์เต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว คาดว่าจะได้ช่อดอกกัญชาแห้ง 1,000 กิโลกรัม ซึ่งมีสารสำคัญ THC และ CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด  ส่งให้องค์การเภสัชกรรมสกัดเป็นยาสารสกัดกัญชา ให้กรมการแพทย์นำไปศึกษาวิจัยในกลุ่มโรคต่างๆ และใช้ในคลินิกกัญชาในสถานพยาบาลของรัฐ

และในวันเดียวกัน ยังได้เริ่มปลูกกัญชาทางการแพทย์สายพันธุ์ไทยด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแบบกลางแจ้ง (Outdoor) ให้เป็นต้นแบบการปลูกกัญชากลางแจ้งเพื่อใช้ทางการแพทย์ระดับครัวเรือนต่อไป

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข