วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:18 น.

กทม-สาธารณสุข

ปลัดฯ กทม. ตรวจความพร้อมระบบระบายน้ำ

วันอังคาร ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563, 19.41 น.
ปลัดฯ กทม. ตรวจความพร้อมระบบระบายน้ำ
เตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน
 
 
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนสายหลัก (Pipe Jacking) บริเวณถนนสุขุมวิท จากซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา เขตบางนา สถานีสูบน้ำบึงหนองบอน เขตประเวศ และสถานีสูบน้ำพระโขนง เขตคลองเตย โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
 
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ถนนสายหลัก (Pipe Jacking) บริเวณถนนสุขุมวิท จากซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา เขตบางนา เริ่มต้นสัญญาวันที่ 10 ม.ค. 61 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 8 ก.ย. 62 ระยะเวลาก่อสร้าง 607 วัน โดยก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ขนาด 6.00 ลบ.ม./วินาที พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 แห่ง ก่อสร้างบ่อรับ-บ่อดันท่อขนส่งน้ำและท่อระบายน้ำแรงดัน ค.ส.ล. จำนวน 12 แห่ง ก่อสร้างท่อขนส่งน้ำและท่อระบายน้ำแรงดัน ค.ส.ล. ความยาว 1,300 ม. และก่อสร้างบ่อพักพร้อมประตูท่อ จำนวน 1 แห่ง ทั้งนี้ถนนสุขุมวิทบริเวณปากซอยสุขุมวิท 105 (ซอยลาซาล) และซอยสุขุมวิท 107 (ซอยแบริ่ง) มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ระยะทางจากจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังไปยังคลองบางนามีระยะทางไกล ทำให้การระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ช้า ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำ นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวมีอุปสรรคแนวสาธารณูปโภคใต้ดิน ทำให้ไม่สามารถขุดถนนวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ได้ ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น จึงจำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำด้วยวิธีดันท่อ (Pipe Jacking) ซึ่งการก่อสร้างใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนสุขุมวิท จากซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคแนวสาธารณูปโภคใต้ดิน และลดผลกระทบต่อการจราจร พร้อมก่อสร้างสถานีสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่คลองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบันโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำบริเวณถนนสุขุมวิท จากซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนาได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ในกรณีฝนตกปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในการสัญจรและประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำบริเวณถนนสุขุมวิทช่วงซอยลาซาลและซอยแบริ่งลงสู่คลองบางนาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
สำหรับสถานีสูบน้ำบึงหนองบอน ตั้งอยู่บริเวณบึงรับน้ำหนองบอน เขตประเวศ กำลังสูบรวม 20 ลบ.ม./วินาที ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำในบึงรับน้ำหนองบอน ซึ่งรับน้ำจากคลองมะขามเทศและคลองหนองบอนในช่วงฤดูฝนเดือน พ.ค.-พ.ย. มากักเก็บไว้ และในช่วงฤดูแล้งเดือน ธ.ค.-เม.ย. จะระบายน้ำออกเพื่อการอุปโภคและถ่ายเทน้ำเสีย มีพื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 150 ตร.กม. ในเขตประเวศ สวนหลวง พระโขนง และพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งในอนาคตจะเชื่อมกับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 ม. ความยาว 9.4 กม. ความลึก 30 ม. โดยแนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ถนนสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำบางอ้อและออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ คาดว่าการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 64
 
ส่วนสถานีสูบน้ำพระโขนง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 50 เขตคลองเตย พื้นที่สถานีสูบน้ำสร้างคร่อมคลองพระโขนงและอยู่ห่างจากปากคลองพระโขนงประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสถานีสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร โดยมีกำลังสูบรวม 155 ลบ.ม./วินาที ทำหน้าที่สูบระบายน้ำและควบคุมระดับน้ำในคลองพระโขนง ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองประเวศ คลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว พื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 360 ตร.กม. ในเขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย และพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ที่ลำเลียงน้ำมายังสถานีสูบน้ำพระโขนงซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันนี้ โดยมีกำลังสูบน้ำออกไปลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาขนาด 60 ลบ.ม./วินาที อีกด้วย
 
มอบถุงยังชีพพร้อมให้กำลังใจคนสู้น้ำช่วย กทม. รอดพ้นน้ำท่วม
 
ในโอกาสนี้ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มอบถุงยังชีพให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสังกัดสำนักการระบายน้ำ จำนวน 300 คน ภายในถุงยังชีพบรรจุเครื่องบริโภคและอุปโภค อาทิ ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช น้ำปลา นมถั่วเหลือง เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อึกทั้งสร้างขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
 
"เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำหรือที่เรียกกันว่า “คนสู้น้ำ” นับว่าเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญช่วยให้กรุงเทพมหานครรอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วมทั้งในช่วงฤดูฝน ช่วงน้ำหลาก และน้ำทะเลหนุน ปัจจุบันสำนักการระบายน้ำมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดอยู่ในพื้นที่เกือบ 3,000 คน อย่างไรก็ดีการระบายน้ำจะใช้ระบบอย่างเดียวคงไม่พอ จำเป็นที่จะต้องใช้กำลังคนด้วย จึงจะทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว อีกทั้งยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนยังพร้อมในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลัง ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทุ่มเท เสียสละ และที่สำคัญเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร" ปลัดฯ กทม. กล่าว
 

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข