วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 13:29 น.

กทม-สาธารณสุข

“บอร์ดวัคซีนชาติ”หนุนผู้ผลิตวัคซีนในประเทศเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีน

วันอังคาร ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563, 17.29 น.

“บอร์ดวัคซีนชาติ” ออกระเบียบสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของไทยมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจน และที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ก็ได้รับทราบแผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เสนอไว้ในแผนเร่งรัดในกรอบวงเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติยังได้เห็นชอบการออกระเบียบเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนในประเทศ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจแก่ผู้ที่จะลงทุนโรงงานเพื่อผลิตวัคซีนในประเทศ และจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน เพราะหากเมื่อถึงคราวจำเป็น ประเทศจะได้ขอใช้โรงงานนั้นในการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาการระบาดของโรคได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบเรื่องแนวทางการออกประกาศตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เพื่อเตรียมวางแนวทางเพื่อใช้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉิน ซึ่งจะสามารถออกประกาศมาบังคับใช้ในกรณีต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

“รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงด้านวัคซีนอย่างมาก ตอนนี้เราสามารถป้องกันควบคุมโรคได้ สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการมีวัคซีนเพื่อใช้ในการป้องกันโรค ถ้าเรายืนอยู่บนขาของตัวเองได้อย่างมั่นคง ยิ่งถ้าสามารถประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกหรือประเทศแรกๆ ที่คิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้สำเร็จก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยเฉพาะคนไทยก็จะได้รับวัคซีนเป็นประเทศแรกๆ เช่นกัน และเราก็จะสามารถเปิดประเทศได้อย่างมั่นใจ เศรษฐกิจและสังคมจะได้ฟื้นตัว”รมว.สาธารณสุขกล่าว

ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ระเบียบเพื่อสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนในประเทศนั้น เป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐที่จะใช้เสริมสร้างศักยภาพหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ผลิตวัคซีนและเพิ่มโอกาสการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้ ตลอดทั้งการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ อย่างครบวงจร โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะวัคซีนป้องกันโควิด-19 เท่านั้น แต่จะเป็นระเบียบที่ใช้กับวัคซีนทุกชนิดที่ผลิตและขึ้นทะเบียนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติต้องหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมออกแนวทางในด้านต่าง ๆ เช่น การกำหนดชนิดและปริมาณวัคซีนที่ต้องการใช้ การจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มประชาชนที่ต้องได้รับวัคซีนไม่ว่าจะเป็นคนไทยและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศ เพื่อนำมาบริหารจัดการได้ทันทีหลังการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประสบความสำเร็จ

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข