วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 02:12 น.

กทม-สาธารณสุข

จับมือภาคีเครือข่ายพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร

วันอังคาร ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563, 15.52 น.
จับมือภาคีเครือข่ายพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร
 
 
 
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดโครงการและร่วมแถลงข่าวโครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร โดยมี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมแถลงข่าว นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม นางงามตา รอดสนใจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเชื่อมโยงเครือข่ายสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล นางสาวนิสา แก้วแกมทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาสังคม ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม 50 สำนักงานเขต อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จำนวน 292 คน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 500 คน ร่วมพิธี ณ ห้องประชุมบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง
 
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ดำเนินโครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาและส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับศักยภาพของศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร ให้มีขีดความสามารถในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กปฐมวัยที่มีความเปราะบางให้ได้รับการพัฒนา ทั้งนี้จากผลการสำรวจของโครงการ MICS5 ในปี พ.ศ. 2559 มีเด็กอายุ 3-4 ปี ร้อยละ 84.7 กำลังเรียนในหลักสูตรปฐมวัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าครอบครัวมีการส่งเสริมเด็กให้เข้าเรียนตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ และเตรียมความพร้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้มักไม่ครอบคลุมกลุ่มเด็กพิเศษ เด็กพิการ รวมทั้งกลุ่มเด็กเปราะบางทางสังคมที่ไม่ได้อยู่ในการสำรวจ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรมีการจัดกระบวนการดูแลสุขภาวะและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ การศึกษาของ Isaranurug S. และคณะ ชี้ให้เห็นว่าการศึกษาของมารดา รายได้ครอบครัว ภาวะวิกฤตในครอบครัว และการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดามีความสัมพันธ์กับพัฒนาการเด็กอายุ 1-5 ปี ท่ามกลางสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของเด็กและเยาวชนที่มีความเปราะบาง พบว่าปัจจุบันการจัดบริการสาธารณะเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่มีความเปราะบางหรือที่มีความต้องการพิเศษยังขาดกลไกและบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กกลุ่มนี้ อีกทั้งขาดมาตรฐานในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กและเยาวชนที่ความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้เหล่านี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางวิชาการ ในการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้
 
สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จำนวน 292 ศูนย์ มีเด็กจำนวน 22,713 คน (ปี 2562) ซึ่งเด็กปฐมวัยเหล่านี้อาศัยอยู่ใน 45 เขต กว่า 2,000 ชุมชน โดยส่วนใหญ่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวเด็กกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มครัวเรือนยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยที่รับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนและดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการชุมชน กรุงเทพมหานครสนับสนุนการดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เป็นต้นมา และผู้ดูแลเด็กจะดำเนินงานในรูปแบบของอาสาสมัคร โดยกรุงเทพมหานครสนับสนุนงบประมาณค่าอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) (20 บาทต่อคน ต่อวัน) ค่าตอบแทนอาสาสมัคร(ตามวุฒิการศึกษา) และค่าสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอน (100 บาทต่อคน ต่อปี) นอกจากนี้ ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่า มีเด็กปฐมวัยในกรุงเทพมหานคร อายุ 3-5 ปี ที่อยู่นอกระบบการศึกษา (ไม่ได้เข้ารับบริการในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย) จำนวนกว่า 13,000 คน ซึ่งยังไม่รวมประชากรแฝง ได้แก่ เด็กปฐมวัยที่ติดตามครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัยและประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น หากค้นหา คัดกรอง และสามารถนำเด็กกลุ่มดังกล่าว กลับเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จะช่วยเตรียมความพร้อมและลดอัตราการไม่เข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้เป็นอย่างมาก
 
เสนอ 7 ผลลัพท์ ลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ
 
โครงการการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาอุปสรรคในการเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของเด็กปฐมวัยในครอบครัวยากจนและเด็กปฐมวัยที่ยังไม่ได้เข้ารับบริการควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้ดูแลเด็กศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เพื่อส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยในกรุงเทพมหานคร ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งผลลัพธ์จากการดำเนินโครงการ มีดังนี้ 1.กลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้รับความช่วยเหลือไม่น้อยกว่า 1,000 คน และเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร ได้รับความช่วยเหลือให้สามารถเข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หรือโรงเรียนอนุบาลได้อย่างเหมาะสม ไม่น้อยกว่า 1,000 คน 2.ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของชุมชนกรุงเทพมหานคร ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ อย่างน้อย 250 ศูนย์ 3.สถานการณ์และบทวิเคราะห์เพื่อการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร 4.แนวทางและ/หรือคู่มือการช่วยเหลือเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยนอกระบบในเขตกรุงเทพมหานคร 5.แนวทางการทำงานรวมกับชุมชน และครอบครัวผู้ดูแลเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยนอกระบบในเขตกรุงเทพมหานคร 6.แนวทางการขยายผลการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และเด็กปฐมวัยนอกระบบในเขตกรุงเทพมหานคร และ 7.ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรองรับขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยยากจนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร
 
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำงานระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งครอบครัว พ่อแม่ ในพื้นที่ 45 สำนักงานเขต ในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จำนวน 292 ศูนย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถวัดผลได้ที่ตัวเด็กที่มีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย สุขภาพแข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับประโยชน์ และเป็นกำลังใจต่อผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อเด็กปฐมวัยที่อยู่ในระบบและนอกระบบได้จริง โดยได้นำวิธีปฏิบัติที่ดีจากการปฏิบัติจริง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ให้เห็นเชิงประจักษ์ โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นพี่เลี้ยงร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คาดหวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยยากจนเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่การพัฒนาคนไทยที่มีคุณภาพโดยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามเจตนารมณ์ของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข