วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567 09:27 น.

กทม-สาธารณสุข

แนะพ่อแม่ช่วยแปรงฟันลูกตั้งแต่ซี่แรกป้องกันอนาคตฟันผุ

วันพุธ ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563, 15.09 น.

สสส.ร่วมกับ ม.อ.เปิดแคมเปญ “แปรงฟันป้องกันอนาคตลูกผุ” ห่วงเด็กสูญเสียฟันน้ำนมก่อนฟันแท้งอกถึง 3-10 ปี ชี้ฟันผุมีอันตรายเกินคาด กระตุกพ่อแม่ช่วยแปรงฟันตั้งแต่ซี่แรก ย้ำใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ลดฟันผุถึง 30 % หนุนสื่อให้ความรู้ แก้ความเชื่อผิด

นางสาวสุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สืบเนื่องจาก สสส. ขับเคลื่อนงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มวัยต่างๆ  โดยสถานการณ์ที่พบฟันผุในเด็กกลุ่มเด็กอายุ 3 ขวบ ถึงร้อยละ 52.9 มีฟันผุอย่างน้อย 1 ซี่ และร้อยละ 2.3 ของเด็กเริ่มมีการสูญเสียฟันน้ำนม นับเป็นการสูญเสียฟันก่อนฟันแท้จะงอกถึง 3-10 ปี ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง จึงต้องเน้นสร้างความตระหนักผลของการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร และเนื่องในโอกาสวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ สสส. ร่วมกับ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และภาคีเครือข่ายด้านทันตสาธารณสุข เปิดตัวแคมเปญ “แปรงฟันป้องกันอนาคตลูกผุ” โครงการที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมของพ่อแม่ ผู้ปกครองเรื่องการดูแลฟันน้ำนมของลูก ผลิตสื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบหากฟันน้ำนมผุ เช่น ฟันซ้อนเก กระทบต่อพัฒนาการ ซึ่งการรณรงค์ครั้งนี้เน้นความสำคัญของการดูแลฟันน้ำนมด้วยการแปรงฟันที่ถูกวิธีด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์อย่างน้อย 1,000 ppm ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ฟันสะอาด และแข็งแรง โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่มีลูกตั้งแต่แรกเกิด-7 ปี รวมถึงกลุ่มครูพี่เลี้ยงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อนุบาล องค์กรท้องถิ่น ตลอดถึงบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ

“ปัญหาฟันน้ำนมผุที่ดูเล็กๆ อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่ในอนาคตของลูก เพราะเด็กฟันผุจะมีสุขภาวะที่ไม่ดี เช่น บดเคี้ยวได้ไม่ดี มักกินแต่อาหารนิ่มๆ เครื่องดื่ม หรือนม ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และในเด็กที่ปวดฟัน ทำให้นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน ส่งผลต่อฮอร์โมนที่หลั่งเพื่อการเจริญเติบโตทำงานได้ไม่เพียงพอ ทำให้พัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจไม่ดี และหากโรคฟันผุมีการติดเชื้อที่รุนแรงจะติดเชื้อแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นพ่อแม่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กไม่ควรละเลย เห็นได้ว่า การเกิดปัญหาในฟันน้ำนมยังต้องมีการได้รับการดูแลที่มากขึ้นในสังคมไทย จำเป็นต้องเร่งให้ความรู้ในการดูแลช่องปากแก่ครอบครัว เพิ่มโอกาสให้พ่อแม่เข้าถึงความรู้ให้มากขึ้น และแก้ไขความเชื่อผิดๆ ของพ่อแม่ในสังคมไทยที่ไม่ให้ความสำคัญกับฟันน้ำนม” นางสาวสุพัฒนุชกล่าว

ผศ.ดร.ทพญ.จรัญญา หุ่นศรีสกุล รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาฟันผุนั้นต้องแก้ทั้งสาเหตุจากการกินอาหารและเครื่องดื่มรสหวาน ร่วมกับการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยเหตุผลที่ต้องเน้นการแปรงฟันในเด็กเล็ก เพราะจากผลการศึกษาของประเทศไทย พบว่า เด็กอายุ 3 ปี ที่มีคราบจุลินทรีย์หรือขี้ฟันอยู่ในระดับเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ มีถึงร้อยละ 41.5 และมีเพียงร้อยละ 42.5 ที่ผู้ปกครองแปรงให้ ในขณะที่เด็กมีความจำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลช่วยแปรงฟันจนกว่าจะอายุ 7 ปี แคมเปญ “แปรงฟันป้องกันอนาคตของลูกผุ” จึงสนับสนุนให้ผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็กตั้งแต่ซี่แรกจนถึงอย่างน้อย 7 ปี หรือให้เด็กแปรงเอง ผู้ใหญ่แปรงซ้ำให้ รวมถึงแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ จะลดฟันผุในเด็กมากกว่าไม่ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ถึงร้อยละ 15-30

“เพื่อให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ในรูปแบบที่ตอบโจทย์ของแต่ละคนบนฐานของเทคโนโลยีการสื่อสาร คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. ได้พัฒนา Chatbot 21 วันฟันดี ซึ่งเป็นระบบการตอบโต้อัตโนมัติ สนับสนุนให้ผู้ปกครองของเด็กอายุก่อน 3 ปี ได้ร่วมสนุกและเรียนรู้การดูแลช่องปากผ่านการพูดคุย เล่นเกม สอดแทรกเนื้อหาที่ผู้ปกครองสงสัย รวมถึงเคล็ดลับแปรงฟันในเด็กเล็ก ทั้งในรูปแบบอินโฟกราฟิก แอนิเมชั่น วิดีโอ และการชวนคุยต่อเนื่อง 21 วัน โดยจากการวิจัยภายหลังที่มีการใช้ Chatbot 21 วันฟันดีใน 6 พื้นที่ภาคใต้ พบว่า ผู้ที่เข้าร่วมเล่น Chatbot 21 วันฟันดีและได้ฝึกการแปรงฟันร่วมด้วย สามารถลดระดับแผ่นคราบจุลินทรีย์ได้ถึงร้อยละ 45.8 จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ปกครองร่วมเรียนรู้ โดยสามารถเข้าไปสมัครฟรีได้ที่ m.me/21daysgoodteeth และสามารถติดตามแคมเปญ แปรงฟันป้องกันอนาคตลูกผุ ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ฟันสวยฟ้าผ่า” ผศ.ดร.ทพญ.จรัญญากล่าว

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข