วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 08:42 น.

กทม-สาธารณสุข

“แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ยังเดินหน้า มาช้าแต่มาแน่

วันพุธ ที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 16.03 น.

“แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.”

ยังเดินหน้า มาช้าแต่มาแน่

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก ครั้งที่ 1/2564 ผ่านไป แนวทาง “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ยิ่งชัดเจนขึ้น ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานฯ ในการพิจารณาเพื่อปรับแผนแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมถึงหาข้อยุติต่อการตั้งข้อสังเกตจากหน่วยงานต่างๆ

คณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว ได้รับการเปิดเผยจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนหน้านี้ว่ามี นายชัยวัฒน์  ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และนายจิรุฒม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นเลขานุการคณะทำงาน โดยมีสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน แต่เดิมคาดว่าจะได้ข้อยุติในเดือนพฤษภาคมนี้  ทั้งนี้รวมไปถึงการหาข้อสรุปในบางประเด็นจากการตั้งข้อสังเกตหรือข้อกังวลของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับ “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ด้วย ต่อจากนั้นจะดำเนินการจัดทำแผนลงทุนดังกล่าวเพื่อเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาและเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดเผย “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” ซึ่งมีการปรับแผนจากการซื้อรถเมล์ใหม่ เปลี่ยนเป็นการจัดเช่ารถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าแทน และให้บริการวิ่งในเส้นทางเดินรถที่มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางตามที่กรมการขนส่งทางบกแบ่งใหม่ เป็นของ ขสมก. 108 เส้นทาง และของเอกชนอีก 54 เส้นทาง รวมระยะเวลา 7 ปี ซึ่งจะเป็นการจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก. กำหนด และยังมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นอัตราเดียว (Single Price) ในอัตรา 30 บาท/คน/วัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดยยังคงมีทางเลือกสำหรับค่าโดยสารแบบเที่ยวเดียวไว้ให้ด้วย

ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ "สภาพัฒน์" ก็เคยย้ำว่า “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” นั้น ขณะนี้ไม่ได้ติดอยู่ที่สภาพัฒน์ และกระทรวงคมนาคมไม่จำเป็นต้องนำแผนฟื้นฟูฯ มาให้สภาพัฒน์พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่สิ่งที่กระทรวงคมนาคมต้องเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณา คือ แผนการลงทุนในการจัดหารถโดยสารประจำทางใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ถือเป็นกระบวนการปกติของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหากต้องจัดซื้อจัดจ้างต้องส่งมาให้สภาพัฒน์พิจารณาด้วย

ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศ เรื่อง “การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)” เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2564 โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่ง พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวการเดินรถ ในการให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่าที่สามารถจะทำได้ โดยให้พิจารณาจัดการเดินรถตามความจำเป็น ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้ง ปรับลดการให้บริการ ในช่วงเวลา 23.00 – 04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2564 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังได้ปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารทุกประเภท ในช่วงเวลาการให้บริการปกติ ทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศฯ และสอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้บริการในปัจจุบันที่มีจำนวนลดลง เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน (Work From Home) และสถานศึกษาหลายแห่ง ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ขสมก. ปรับลดจำนวนเที่ยววิ่ง เฉพาะเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการลดลง ส่วนเส้นทางที่มีจำนวนผู้ใช้บริการเท่าเดิม จะไม่มีการปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งแต่อย่างใด นอกจากนี้ ขสมก. ยังได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด - 19 อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.

นาทีนี้จึงต้องบอกว่าถ้า “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” มาเร็วกว่านี้สักหน่อย ประชาชนจะได้ใช้รถเมล์ใหม่ระบบพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังลดการวิ่งในเส้นทางที่ซ้ำซ้อน ไม่ต้องรอรถนาน จากจำนวนรถน้อยและสภาพเก่าทรุดโทรม และยังมีรถควันดำเป็นมลพิษด้วย ตอนนี้จึงได้แต่รอว่า “แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.” จะผ่านฉลุย เดินหน้ารับ “ชีวิตวิถีใหม่” ให้เร็วที่สุด ไม่ค้างเติ่งถูกดองไว้ที่สภาพัฒน์ นานๆ  สามารถสรุปส่งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เร็วเท่าไหร่ก็เริ่มได้เร็วเท่านั้น ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ยังคงยืนยันหนักแน่นว่าถึงมาช้าแต่มาแน่ และนี่ถือเป็นอีกหนทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนกรุงเทพฯ ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมที่สุดอย่างหนึ่ง

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข