วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 16:49 น.

กทม-สาธารณสุข

เตือนนักดื่มเหล้าเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า

วันพฤหัสบดี ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 17.21 น.

นักวิชาการเตือนนักดื่มเหล้าเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า เสี่ยงยอดติดเชื้อเพิ่ม แถมรักษาอาการป่วยนานกว่าปกติ สสส.เผยคนไทย 18 ปีขึ้นไปดื่มสุรา 2.7 ล้านคน ชวนลดพฤติกรรมเสี่ยง เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 ที่ลานเอนกประสงค์ชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กรุงเทพฯ เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด และศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ “ถอดบทเรียนชีวิตคนติดเหล้า ในวันที่ติดโควิด-19” ชวนประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยง ตัดวงจรระบาดโควิด-19 ด้วยการลด ละ เลิกเหล้า สร้างสุขภาวะที่ดีรอบด้านในชีวิต

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่าสถานการณ์และผลกระทบต่อพฤติกรรมการดื่มสุราช่วงโควิด-19 ในปัจจุบัน พบผู้ชายมีพฤติกรรมดื่มสุราจนทำให้เกิดความสูญเสียจากภาวะบกพร่องทางสุขภาพติดอันดับหนึ่ง แบ่งเป็น 2 ช่วงวัย คือ วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป มีพฤติกรรมดื่มสุรากว่า 2.7 ล้านคน แยกเป็นกลุ่มที่ดื่มแบบอันตราย (harmful drinker) ประมาณ 1.8 ล้านแสนคน และกลุ่มที่ดื่มแบบติดสุรา (alcohol endipendent) ประมาณ 9 แสนคน ซึ่งประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มสุราเฉลี่ยปีละกว่า 17,000 คนในสถานการณ์ปกติ จากจำนวนคนที่ดื่มประมาณ 15 ล้าน 9 แสนคน

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า ในช่วงการระบาดโควิด-19 คาดการณ์ว่าจะพบผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 เห็นได้จากหลายเหตุการณ์ที่ยืนยันว่า การดื่มสุราในงานปาร์ตี้ที่ผับ/บาร์ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ปัจจุบันยังพบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นวันละกว่า 2-3 พันคน จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยง มีมาตรการควบคุมโรคส่วนบุคคลอย่างเข้มข้น ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ  แม้จะได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะการดื่มต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว เสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรั้ง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็ง ที่น่ากลัวที่สุด คือ โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคตับ และโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากการดื่มสุรา ยิ่งช่วงนี้ประเทศไทยยังมีการระบาดของโควิด -19 อยู่ จะพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการหนักและเสียชีวิต ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังรวมอยู่ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ขาดสติและขาดความสามารถป้องกันตัวเองลดลง เห็นได้จากงานปาร์ตี้ที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้วเดียวกันในผับ/บาร์ ทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น

“เราพบข้อมูลว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มโอกาสเสี่ยงติดโควิด-19 ได้ 2-3 เท่า ดังนั้นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก หากเป็นไปได้ถ้าเราลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อลงได้อย่างมาก ส่วนคนที่มีอาการติดสุรารุนแรง ควรไปสถานพยาบาลปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาช่วยเลิกสุรา เพื่อให้เราสามารถมีสติในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้ หรือสามารถเข้าไปเว็บไซต์ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุราได้ที่ www.1413.in.th เพื่อดูข้อมูลหรือขอรับคำปรึกษาได้” รศ.พญ.รัศมน กล่าว

นายเอ (นามสมมติ) อายุ 47 ปี กล่าวว่า ตัวเองดื่มเหล้าหนักตั้งแต่วัยรุ่นจนเกิดอาการติดสุรา ต้องดื่มทุกวัน ตื่นเช้ามาสิ่งแรกที่ทำคือดื่มเหล้า หลังเลิกงานก็ต้องดื่ม ต้องมีเหล้าติดบ้านไว้ตลอด กระทั่ง 10 กว่าปีก่อน มีอาการเวียนหัว อาเจียนเป็นเลือด ตาเหลือง หน้าคล้ำ ท้องบวมโต จึงไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคตับแข็งทางเดียวที่จะทำให้อาการดีขึ้น คือ ต้องเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด จึงมุ่งมั่นเลิกดื่มมาถึงปัจจุบัน แต่ยังต้องหาหมอ กินยารักษาโรคตับแข็งมาตลอด ยอมรับว่า การดื่มสุราจนป่วยทำให้ชีวิตลำบากไม่สามารถทำงานหนักได้ เพราะร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยง่าย เวลาอาการถึงกำเริบท้องจะบวม เบลอ สับสน พูดไม่รู้เรื่อง

นายเอ (นามสมมติ) กล่าวอีกว่า ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม่ของเขาติดเชื้อโควิด-19 จากคนรู้จักเพราะพูดคุยกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากตอนนั้นไม่รู้ว่าคนที่คุยด้วยติดเชื้ออยู่ แต่หลังจากนั้น 2 วันทราบว่า คนรู้จักติดเชื้อโควิด-19 ทำให้แม่ต้องติดเชื้อไปด้วย และเนื่องจากครอบครัวของเขาอยู่รวมกัน 4-5 คน ทำให้ติดเชื้อกันทั้งบ้าน และระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลลืมนำยารักษาโรคตับแข็งไปด้วยระหว่างรักษาการติดเชื้อโควิด-19 จนมีภาวะขาดยา ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อุจจาระ ปัสสาวะเองโดยไม่รู้ตัว และเมื่อรักษาโควิด-19 หายแล้ว ยังต้องรักษาอาการป่วยจากโรคตับแข็งต่อที่โรงพยาบาล

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข