วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 00:46 น.

กทม-สาธารณสุข

ตรวจตลาดย่านมีนบุรี และบ้านผู้สูงอายุย่านคลองสามวา

วันศุกร์ ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 17.45 น.
ตรวจตลาดย่านมีนบุรี และบ้านผู้สูงอายุย่านคลองสามวา
กำชับมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-19 
 
 
นายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่เขตมีนบุรี ได้แก่ ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี ถ.สีหบุรานุกิจ แขวงมีนบุรี และตรวจแนะนำบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซีสเทม จำกัด (ศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขามีนบุรี) ถ.สุวินทวงศ์ แขวงมีนบุรี โดยคณะผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร  คณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี สำนักอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี กองทัพอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 
 
สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) ที่ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว มีการติดเชื้อต่อเนื่องจากสถานที่เฉพาะกลุ่ม เช่น แคมป์คนงานก่อสร้าง หรือตลาด ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สำนักงานเขตมีนบุรี จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน เฝ้าระวัง และควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในตลาดสดและตลาดนัดทุกแห่งในพื้นที่ โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี และผู้บริหารตลาดแต่ละแห่ง จัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก โดยตรวจสอบประเมินความเสี่ยงและตรวจคัดกรอง COVID-19 แรงงานต่างชาติ และพ่อค้าแม่ค้า จำนวนกว่า 1,000 ราย ในตลาดสดและตลาดนัดทุกแห่งในพื้นที่ รวมจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ ตลาดมีนบุรี 1 (ตลาดเก่า)  ตลาดมีนบุรี (ตลาดใหม่)  ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี  ตลาดนัดจตุจักร 2 มีนบุรี  ตลาดนัดปากซอย  ตลาดนัดทวีทรัพย์พลาซ่า  ตลาดนัดบาแล  ตลาดนัดมุสลิม  ตลาดทรัพย์เพิ่มพูน  ตลาดนัดแฮปปี้มาร์เก็ต  ตลาดนัดพิมานมีน  ตลาดนัด AEC  ตลาดรินทร์ทอง และตลาดธรากร  พร้อมมีแผนในการลงสุ่มตรวจตลาดและสถานประกอบการต่าง ๆ ทั่วพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ 
 
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร มีความห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ  จึงมอบหมายรองปลัดกรุงเทพมหานคร ที่กำกับดูแลกลุ่มเขตต่างๆ ลงพื้นที่ตรวจแนะนำมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  โดยวันนี้ได้ตรวจแนะนำในตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี รวมทั้งบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซีสเทม จำกัด (ศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขามีนบุรี) เพื่อเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19)  โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการคัดกรองประวัติ พ่อค้าแม่ค้า และแรงงานต่างชาติ โดยใช้ระบบ BKKCOVID-19 ทุกคน  และให้อัพเดทข้อมูลในระบบอย่างสม่ำเสมอ หากลูกจ้างรายใดมีอาการน่าสงสัยหรือมีประวัติติดต่อกับผู้มีความเสี่ยงให้แจ้งข้อมูลทันที  เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประเมินและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ และวางแผนป้องกันอย่างรัดกุมและรวดเร็วที่สุด
 
ทั้งนี้ ได้กำชับเจ้าของหรือผู้ประกอบการตลาดทุกแห่งในพื้นที่เขตมีนบุรี ปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ครบถ้วน ได้แก่ 1. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมตลาด เช่น การระบายอากาศภายในตลาดให้เพียงพอ เหมาะสม ไม่มีกลิ่นเหม็นอับ โดยความสูงของหลังคาต้องมีความเหมาะสมกับการระบายอากาศของตลาด 2. เจ้าของ ผู้ประกอบการต้องจัดทำบัญชีทะเบียนผู้ค้าและลูกจ้าง 3. ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการและต้องกำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน 4. ควบคุมดูแลให้ผู้ค้า ลูกจ้างแผงค้า และผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา 5. ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 6. ให้เว้นระยะห่างของแผง ระยะนั่งหรือยืน ระยะห่างในการเลือกสินค้าและการชำระค่าสินค้าอย่างน้อย 1 เมตร 7.  ควบคุมจำนวนผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการมิให้เกิดความแออัด หรือลดเวลาอยู่ในตลาดให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น 8. ควบคุมทางเข้าออก และมีมาตรการคัดกรองอาการป่วยไข้ ไอ จาม หรือเป็นหวัด สำหรับผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ผู้ค้า และลูกจ้างแผงค้า ตามขีดความสามารถ และ 9. ใช้แอปพลิเคชันติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่ทางราชการกำหนด เช่น ไทยชนะ หมอชนะ ตามความเหมาะสม หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลในเอกสาร ซึ่งมาตรการดังกล่าวทั้งหมดจะได้รับการตรวจประเมินจากเจ้าหน้าที่กองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร หากปฏิบัติได้ครบถ้วนและถูกต้อง จึงจะสามารถเปิดทำการค้าในตลาดได้ รวมถึงจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานเขตมีนบุรี ตรวจแนะนำและควบคุมกำชับให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้า และผู้ใช้บริการในตลาดปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 
 
ในส่วนของบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซีสเทม จำกัด (ศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขามีนบุรี) ที่มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่และมีพนักงานเป็นจำนวนมาก  ได้ทำการตรวจแนะนำมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในห้องศูนย์อาหารของพนักงาน พบว่า บริษัทดังกล่าวได้ปฏิบัติตาม มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกรุงเทพมหานครเรียบร้อยดี  โดยมีการทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัสบ่อยๆ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และกำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน ผู้ประกอบการ พนักงานบริการ ผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค มีการเว้นระยะห่างหรือมีฉากกั้นระหว่างที่นั่งในศูนย์อาหาร  รวมทั้งร้านอาหารภายในศูนย์สรรพสินค้าฯ มีการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด มีมาตรการคัดกรองไข้ และอาการ ไอ หอบเหนื่อย จามหรือเป็นหวัด สำหรับผู้ประกอบการ พนักงานบริการ และผู้ใช้บริการก่อนเข้าอาคาร มีการลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักหลีกเลี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน และลดการใช้เสียงดังภายในร้านอาหาร กรณีจำหน่ายอาหารแบบบุฟเฟต์ให้ปรับรูปแบบการบริการ โดยงดการตักอาหารส่วนกลางด้วยตนเอง รวมถึงการตักอาหารในภาชนะหรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน มีการจัดให้มีระบบคิว มีพื้นที่รอคิว ที่มีที่นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร จัดให้มีการระบายอากาศภายในอาคารที่ดีรวมถึงห้องสุขา รวมถึงมีการเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่ทางราชการกำหนด เช่น ไทยชนะ หมอชนะ หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานทดแทนได้ 
 
ตรวจแนะนำการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคฯ สถานดูแลผู้สูงอายุย่านคลองสามวา
 
นอกจากนี้ ตรวจแนะนำมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคฯ ในสถานดูแลผู้สูงอายุเฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ ตามมาตรการแนบท้ายประกาศของกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 32) ณ สถานดูแลผู้สูงอายุบ้านกอบแก้ว เนอร์ซิ่งโฮม ถนนหทัยราษฎร์ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา ซึ่งสถานที่ดังกล่าวรับดูแลผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เข้ารับบริการ ทั้งหมด 31 ราย  โดยสำนักงานเขตคลองสามวา ได้ไปตรวจแนะนำสถานประกอบการเพื่อการบริบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุฯ เอกชน ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ควบคุมการเข้า-ออก พื้นที่ โดยไม่มีความจำเป็น งดการเยี่ยมจากบุคคลภายนอก ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน  ซึ่งจากการตรวจแนะนำในวันนี้พบว่าสถานดูแลผู้สูงอายุดังกล่าวปฏิบัติตามมาตรการของกรุงเทพมหานครอย่างครบถ้วน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นอย่างดี

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข