วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 06:27 น.

กทม-สาธารณสุข

กทม.ติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 เข้มข้น

วันอังคาร ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 15.05 น.
กทม.ติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 เข้มข้น
พร้อมเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อเนื่อง
 
 
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2564 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) 
 
 
ในที่ประชุมสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กทม. โดยในวันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งประเทศ จำนวน 3,175 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 624 ราย รวมจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 60,366 ราย ทั้งนี้ มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) จากแคมป์ก่อสร้าง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน และอื่นๆ (เนอร์สซิ่งโฮม) รวมจำนวน 78 Clusterทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 พ.ค. – 11 มิ.ย. 64 (รวมระยะเวลา 19 วัน) กทม. ได้ตรวจแนะนำและกวดขันให้ผู้ประกอบการตลาดในพื้นที่ กทม. ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ด้านกายภาพ) แล้ว จำนวน 482 แห่ง จากจำนวนตลาดในพื้นที่ทั้งสิ้น จำนวน 486 แห่ง  คงเหลือตลาดที่ยังไม่ได้ตรวจ 4 แห่ง ซึ่งเป็นตลาดในพื้นที่เขตบางกะปิ เนื่องจากมีคำสั่งปิดตลาดปิดตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 64 และยังไม่มีกำหนดเปิด ได้แก่ 1. ตลาดสดลาดพร้าว 2. ตลาดกลางเมืองบางกะปิ 3. ตลาดสดบางกะปิ และ 4. ตลาดนางสาวอาภาภรณ์ ภักดีจรัส  โดยทุกตลาดได้รับการตรวจแนะนำผ่านเกณฑ์ประเมินด้านกายภาพทุกแห่ง   สำหรับตลาดที่ปิดการดำเนินงานและยังไม่ได้ตรวจแนะนำ สำนักอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตรวจประเมินทันทีเมื่อเปิดทำการ  นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคโควิด-19 ในตลาดพื้นที่ กทม. โดยการเก็บน้ำลายกับผู้ค้าในพื้นที่ตลาด จำนวนตลาดละ 75 ราย ระหว่างวันที่ 9 - 29 มิ.ย. 64 รวม 21 วัน จากผลการสุ่มตรวจแบบกลุ่มในแต่ละชุดตรวจ (LQAS) ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย. 64 ตรวจแล้ว 100 แห่ง ไม่พบเชื้อ 71 แห่ง พบเชื้อ 1 คน 18 แห่ง พบเชื้อตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป 11 แห่ง โดยมีผู้เข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 5,968 ราย พบเชื้อ 76 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.27 
 
ผลดำเนินการการตรวจเฝ้าระวังโควิด-19 ชุมชนในเขตพื้นที่ ตั้งแต่ 27 พ.ค. – 10 มิ.ย. 64 ได้ดำเนินการสุ่มตรวจประชาชนแล้ว จำนวน 49 เขต 262 ชุมชน โดยมีผู้เข้ารับการตรวจคัดกรอง 12,222 คน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 26 เขต  ใน 38 ชุมชน จำนวน 194 คน (คิดเป็นร้อยละ 1.30)  
 
 
ในส่วนของแคมป์คนงานก่อสร้าง จากข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย. 64 ในพื้นที่ กทม. มีไซต์ก่อสร้าง 615 แห่ง แคมป์ก่อสร้าง 575 แห่ง โดยมีคนงานที่พักในแคมป์เป็นคนไทย 34,148 คน เป็นคนต่างชาติ 46,915 คน รวม 81,063 คน ซึ่ งได้ดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างพื้นที่ กทม. โดยกำหนดมาตรการออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 ผู้ประกอบการ โดยเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ตรวจประเมินตนเอง ตามมาตรการ SOP-Bubble Protocol ในแคมป์ที่พักคนงาน ภายใน 7 วัน (ระหว่างวันที่ 16-22 มิ.ย. 64) และส่งผลการตรวจฯ ให้สำนักงานเขตรวบรวมเพื่อติดตามตรวจสอบ ระดับที่ 2 สำนักงานเขต โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายโยธา ลงตรวจติดตามการปฏิบัติตามมาตรการ SOP-Bubble Protocol ของแคมป์คนงาน (ระหว่างวันที่ 23-30 มิ.ย. 64) และส่งข้อมูลให้สำนักอนามัยเป็นประจำทุกวัน เพื่อรายงาน ศปก.ศบค. และระดับที่ 3 ฝ่ายความมั่นคงร่วมกับสำนักการโยธา สำนักอนามัย กรมอนามัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ SOP-Bubble Protocol ของแคมป์คนงาน   นอกจากนี้ ยังได้สุ่มตรวจ LQAS คนงานก่อสร้าง จำนวน 587 แคมป์ ตรวจแล้ว 25 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 4.26) ไม่พบเชื้อ 11 แห่ง พบเชื้อ 1 คน 2 แห่ง พบเชื้อมากกว่า 2 คนขึ้นไป ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคุมตามมาตรการ Bubble and Seal จำนวน 10 แห่ง และอยู่ระหว่างรอผล 2 แห่ง ทั้งนี้ กทม. ยังเตรียมดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคโควิด-19 ในโรงงาน จำนวน 122 แห่ง ในโรงงาน จำนวน 3 ประเภท ดังนี้ 1. อาหาร/แปรรูป จำนวน 19 แห่ง 2. ยา จำนวน 12 แห่ง และ 3. ตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวน 91 แห่ง ซึ่งจะเริ่มตรวจในวันที่ 15 ก.ค. 64 เป็นต้นไป
 
จากนั้น สำนักงานเขตบางคอแหลม ยานนาวา ราษฎร์บูรณะและสาทร ได้รายงานการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ดังนี้ สำนักงานเขตยานนาวา ดำเนินการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าส่องสว่างในชุมชนสวนหลวง 2 วัดราชสิงขร  จำนวน 4 จุด  พร้อมติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในจุดที่เพลิงไหม้ในชุมชน  ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ กวดขันปัญหารถจอดกีดขวางทางจราจรพร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ประสานสำนักการโยธาซ่อมแซมผิวจราจรชำรุดถนนพระรามที่ 3 ช่วงถนนเจริญกรุงถึงถนนเจริญราษฎร์  สำนักงานเขตยานนาวา ประสานสำนักการโยธาซ่อมผิวจราจรบนถนนพระรามที่ 3 ตามแนวโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหวางการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 65 และประสานสำนักการโยธาให้แจ้งการไฟฟ้านครหลวงกำชับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน บริเวณถนนพระรามที่ 3 ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรในช่วงเวลากลางคืนให้เหมาะสมเนื่องจากติดตั้งในระยะกระชั้นชิด
 
สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ ประสานการไฟฟ้านครหลวงดำเนินการซ่อมแซมไฟฟ้าที่ดับชำรุดริมคลองแขกหรือคลองบางพึ่ง (ชุมชนสุขสวัสดิ์ 60) ดำเนินการขุดลอกเศษหินและวัชพืชเปิดทางน้ำไหลบริเวณคลองแจงร้อนและคลองแขกใต้สะพานสุขสวัสดิ์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะกวดขันวินัยจราจรบริเวณแยกราษฎร์พัฒนา (แยกซอยสุขสวัสดิ์ 27) และสำนักงานเขตสาทร ประสานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณใต้ทางด่วนเจริญราษฎร์เพิ่มเติม ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้วทั้งหมด
 

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข