วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:35 น.

กทม-สาธารณสุข

นักวิชาการแฉลดภาษีนำเข้าสุรา-ไวน์-ซิการ์สอดไส้ร่วม CPTPP

วันพุธ ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564, 16.01 น.

นักวิชาการโต้กรมศุลฯ ลดภาษีนำเข้าสุรา ไวน์ ซิการ์ สอดไส้ปูทางเข้าร่วม CPTPP ทำรัฐรายได้หด เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ช่วยลดค่าใช้จ่ายกลุ่มไฮเอนด์สร้างปัญหาสุขภาพเพิ่ม เครือข่ายงดเหล้า แฉเหล้าตัวการทำลายสุขภาพสร้างภาระรัฐ 1.5 แสนล้านบาท นโยบายลดภาษีนำเข้าสวนทาง WHO

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงกรณีกรมศุลกากร อยู่ระหว่างพิจารณาปรับลดพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าประเภทไวน์ สุรา และยาสูบประเภทซิการ์ลงกึ่งหนึ่ง เป็นเวลา 5 ปี ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14กันยายนที่ผ่านมา เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาพำนักและลงทุนในประเทศว่า การลดภาษีศุลกากรตามที่มีการเสนอข่าวนั้นถือเป็นการลดรายได้เข้ารัฐโดยไม่จำเป็น และไม่ได้ส่งผลกระทบหรือเป็นเหตุจูงใจอะไรให้ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนตามที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงแล้วมีวาระซ่อนเร้นสำคัญกว่านั้นคือ การปูทางเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าใช่หรือไม่

“ช่วง 1-2  ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีความพยายามโยนหินถามทางเพื่อการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้า โดยเฉพาะ(Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific :CPTPP) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว ยังไม่มีฉันทามติจากสังคมไทยที่ชัดเจน เนื่องจากมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านจำนวนมาก หนึ่งในเหตุผลที่คัดค้านคือ ความห่วงใยต่อการที่สินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม เช่น สุรา และยาสูบ จะถูกนำเข้าจากต่างประเทศโดยเสรีมากขึ้นในมีราคาที่ถูกลง ซึ่งตอกย้ำข้อห่วงใยดังกล่าวว่าเกิดขึ้นจริง” ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์กล่าว

ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า มองไม่เห็นว่ามาตรการลดภาษีนำเข้าดังกล่าวจะส่งผลในการดึงดูดนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ผลที่ตามมาจากมาตรการดังกล่าวที่เกิดแน่นอนคือ ภาษีที่จัดเก็บได้ของภาครัฐที่ลดลง และการเป็นอีกหนึ่งในมาตรการลดค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่จะซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศนี้เข้าไปอีก และยังไม่แน่ใจว่าว่ามาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์อื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ด้วยหรือไม่ จึงอยากให้หน่วยงานที่นำเสนอมาตรการออกมาชี้แจงถึงเหตุผลและคล้ายข้อสงสัยต่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ว่า งานวิจัยใหม่ๆ ในปัจจุบันระบุชัดเจนว่า ไม่มีปริมาณการดื่มที่ปลอดภัย และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพ และสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยพบว่าประเทศไทยมีปัญหาที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายมิติ เช่น ปัญหาอุบัติเหตุ ที่ไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุติดอันดับโลก และส่วนใหญ่มาจากผลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาความรุนแรง ข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก ระบุว่า เด็กเกือบครึ่งกระทำผิดหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 ชั่วโมง

ภก.สงกรานต์ กล่าวต่อว่า ในแง่ของเศรษฐกิจ ธนาคารโลก ระบุว่า ยิ่งควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมมากเท่านั้น ส่วนประเทศไทยมีโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(HITAP)เคยสำรวจว่า ไทยมีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า1.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นผลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO)ที่มียุทธศาสตร์ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า หนึ่งในมาตรการที่ดีที่สุดคือ ได้ผลดีและเป็นการลงทุนต่ำ การควบคุมราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัมพันธ์กับภาษี ยิ่งภาษีแพงมากยิ่งดีต่อการควบคุม โดยเฉพาะการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ รัฐสามารถเก็บภาษีไปใช้ในการลงทุนพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ และยังสามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย

"การที่ไทยมีแนวคิดลดภาษีการนำเข้าเพื่อการจำหน่าย ถือเป็นเรื่องที่สวนทางกับ WHO และยิ่งสร้างปัญหาที่รุนแรงอยู่แล้วให้รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้เยาวชนจะกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่มากขึ้น กลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และทำให้รัฐเสียรายได้ไป ถือเป็นเรื่องที่ได้ไม่คุ้มเสีย การอ้างว่าเปิดเสรีแล้วจะดีนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะกับสินค้าอย่าง เหล้า บุหรี่ เป็นสินค้าไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ยิ่งควบคุมยิ่งเป็นผลดีกับสุขภาพของประชาชน การจะอ้างเหตุผลว่า ส่งเสริมการเดินทางเข้าประเทศ ก็ยิ่งฟังไม่ขึ้น เพราะมีการสำรวจหลายครั้งแล้ว พบว่า ผู้ที่เดินทางมาประเทศไทย เหตุผลหลักเพราะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ไม่ใช่เพราะเหล้าถูกแต่อย่างใด" ภก.สงกรานต์กล่าว

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข