วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 16:25 น.

กทม-สาธารณสุข

วิธีรับมือสัตว์และแมลงตัวร้ายที่มากับหน้าฝน

วันศุกร์ ที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 20.36 น.

วิธีรับมือสัตว์และแมลงตัวร้ายที่มากับหน้าฝน

เข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่นำพาความชุ่มฉ่ำพอให้คลายร้อน  นอกจากความเย็นสบายยังพบกับน้ำท่วมขังที่แฝงไปด้วยสัตว์และแมลงตัวร้ายที่ไม่ได้รับเชิญ ชอบหนีน้ำแอบเข้าบ้านเรา ก่อให้เกิดอันตรายกับคนในครอบครัวได้

พญ.รัตติยา เหลืองอำพนศักดิ์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนหลีกเลี่ยงไม่ได้กับสัตว์และแมลงมีพิษที่ชอบหนีน้ำเข้ามาแอบตามบ้าน โดยเฉพาะที่รกๆ เป็นที่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ พร้อมที่จะทำร้ายเราและคนในครอบครัวได้ทุกเมื่อ จึงควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดบ้านปิดช่องทางหรือรูต่างๆ และจัดระเบียบบ้านไม่ให้รก เพื่อไม่ให้สัตว์เหล่านี้เข้ามาอาศัยอยู่ในบ้าน สัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยๆ เช่น งู แมงป่อง แมลงก้นกระดก และตะขาบ

วิธีป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อโดนสัตว์มีพิษทำร้าย

•งู สัตว์มีพิษตัวร้ายอันดับต้นๆ ที่ชอบหนีน้ำเข้ามาบ้านคน มักชอบซ่อนตัวอยู่ในรองเท้า ก่อนใส่รองเท้าควรเคาะรองเท้าก่อนใส่ หรือโผล่มาจากชักโครกหากพบงูเข้าบ้านควรรีบโทร 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจับงูออกไป เมื่อถูกงูกัดห้ามขันชะเนาะหรือใช้ปากดูดพิษออกมาเด็ดขาดควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดพยายามอย่าขยับอวัยวะที่ถูกงูกัดเพราะจะเร่งให้พิษกระจายไปตามร่างกายได้เร็วขึ้นจดจำลักษณะงูที่ถูกกัด และรีบไปพบแพทย์ทันที

•แมงป่อง สัตว์ที่มีพิษร้ายแรง เมื่อโดนแมงป่องต่อยจะมีอาการปวดบวมแดงและแสบร้อนตรงบริเวณที่ถูกต่อยในบางรายมีอาการรุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง อาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้  ควรรีบทำความสะอาดบริเวณที่โดนต่อยด้วยน้ำสะอาดและและประคบเย็น ครั้งละประมาณ 10 นาทีเพื่อบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เส้นเลือดหดตัวพิษจะกระจายตัวได้ช้าลง จากนั้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที

•แมลงก้นกระดกสัตว์ปีกที่มีพิษแสบร้อน ช่วงฤดูฝนมักจะพบได้มากตามบ้านเรือน หรืออาคารสูง เมื่อสัมผัสโดนจะมีอาการคัน ปวดและแสบ ผิวไหม้ มีผื่นแดง ตุ่มน้ำ เป็นหนองตามผิวหนังที่สัมผัส ควรรีบทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า หากมีอาการอักเสบรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที

•ตะขาบ สัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยตามบ้านเรือน เมื่อโดนกัดจะมีอาการปวด คัน บวมแดงบริเวณที่ถูกกัดพิษของตะขาบไม่รุนแรงถึงกับทำให้เสียชีวิต ควรทำความสะอาดบริเวณที่โดนกัดด้วยน้ำสะอาด หมั่นประคบน้ำอุ่น ครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการปวดบวม หรือรับประทานยาแก้ปวดเมื่อรู้สึกปวด หากมีอาการแพ้รุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ศูนย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรฉุกเฉินที่ได้รับการฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน มุ่งมั่นให้การดูแลผู้ป่วยด้วยคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยเป็นสำคัญ พร้อมทีมกู้ชีพช่วยเหลือ มีบริการรถ Mobile ICU เพื่อรองรับผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง สายด่วนศูนย์หัวเฉียวพิทักษ์ชีพ โทร. 081-870-3538-40

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข