วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 15:07 น.

กทม-สาธารณสุข

ปี 61 สปสช.บรรจุนวัตกรรม ดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เข้าถึงยาขับเหล็กเพิ่ม

วันจันทร์ ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560, 08.23 น.


 

ปี61 สปสช.บรรจุนวัตกรรม

ดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เข้าถึงยาขับเหล็กเพิ่ม


 
         

สปสช.ปี 2561 รุกดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมีย บรรจุนวัตกรรมยา “ดีเฟอร์ราซิร็อก” ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยาขับเหล็กเพิ่ม ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมขยายครอบคลุมดูแลผู้ป่วยเพิ่ม 1.5 หมื่นราย  
   

 

นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง หรือที่เรียกว่าชนิดพึ่งพาเลือด ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 600,000 คน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับเลือดอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก การให้เลือดและดูแลรักษาต่อเนื่องจะทำให้มีการเจริญเติบโตปกติ ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่การให้เลือดอย่างต่อเนื่องมีผลต่อผู้ป่วย ทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กที่เกินความต้องการของร่างกาย ก่อให้เกิดผลร้ายแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ได้ เช่น ตับแข็ง ภาวะเบาหวาน และหัวใจวายได้ ดังนั้นในกระบวนการรักษาต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพและความปลอดภัยแก่ผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงจึงต้องได้รับยาขับธาตุเหล็ก

 

ในอดีตผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียส่วนใหญ่จะได้รับยาขับเหล็กชนิดฉีด ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังโดยใช้เครื่องช่วยฉีดยา 8–12 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้เด็กไม่ยอมรับการรักษาสม่ำเสมอเพราะต้องเจ็บปวดจากการฉีดยาและกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยในกลุ่มเด็กไม่สามารถดำรงชีวิตเหมือนเด็กคนอื่นได้ เช่น ไปโรงเรียน วิ่งเล่นกับเพื่อน เป็นต้น ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีจากการพัฒนายาดีเฟอริโพรน (Deferiprone) ซึ่งเป็นยาขับเหล็กชนิดกิน โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำให้ราคายาถูกลง ดังนั้นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงกำหนดให้สิทธิประโยชน์การรักษาโรคเลือดธาลัสซีเมียครอบคลุมยาดีเฟอริโพรน ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา 
      

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงมีส่วนหนึ่งที่มีภาวะแพ้ยาดีเฟอริโพรน มีผลข้างเคียงให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดข้อ การทำงานของตับผิดปกติ และระดับเอ็มไซม์ในตับเพิ่มขึ้น ทำให้แพทย์ต้องงดให้ยา ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะธาตุเหล็กเกิน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับยาดีเฟอร์ราซิร็อก (Deferasirox) ซึ่งเป็นนวัตกรรมยาที่มีราคาแพงกว่ามากแทนและต้องกินประจำทุกวัน ที่ผ่านมาจึงทำให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงการรักษาและทุกข์ทรมานจากภาวะความเจ็บป่วย 
   

ในปี 2561 นี้ บอร์ด สปสช.จัดสรรงบประมาณ 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 เพื่อบรรจุนวัตกรรมยาดีเฟอร์ราซิร็อกภายใต้สิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยธาลัซเมีย ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และขยายความครอบคลุมการเข้าถึงการให้เลือดสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยตั้งเป้าดูแลผู้ป่วยในระบบจำนวน 15,000 คน 
 

“จากการดำเนินสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยโรคเลือดธาลัสซีเมีย ส่งผลให้มีผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2557 มีผู้ป่วยธาลัสซีเมียในระบบจำนวน 4,532 ราย ปี 2558 เพิ่มเป็น 9,835 ราย และในปี 2560 เพิ่มเป็นจำนวน 11,439 คน และการขยายการเข้าถึงยาดีเฟอร์ราซิร็อกและการให้เลือดกับผู้ป่วย ซึ่งบอร์ด สปสช.ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในปี 2561 นี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

     

นพ.ชูชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลต่อเนื่อง จึงส่งผลต่อภาระค่ารักษาพยาบาล ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงการรักษา โดยในผู้ป่วยเด็ก 1 ราย จะมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 10,500 บาทต่อเดือน หากรวมตลอดอายุของเด็กจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาประมาณ 6,600,000 ล้านบาทต่อคน ทั้งนี้จากแนวคิดใหม่ขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ที่ให้ลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อสุขภาพที่ดีและอยู่ดีมีสุข (Health and Well-being) สปสช.ได้นำมาดำเนินการในโรคเลือดธาลัสซีเมีย โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข