วันอังคาร ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567 15:23 น.

อาชญากรรม

แพทย์ศิริราชเผย “น้ำตาล” เป็นวัณโรคหลังโพรงจมูก

วันพุธ ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 12.44 น.

แพทย์ศิริราชเผย “น้ำตาล”
เป็นวัณโรคหลังโพรงจมูก

 

 เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 26 มิ.ย.62 ที่ห้องประชุมอทิตยาทรกิติคุณตึกสยามินทร์ชั้น 7 รพ.ศิริราช ศ. ดร.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ แพทย์เจ้าของไข้ ของ น.ส.บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาล เดอะสตาร์ 5 ร่วมกันรายงานผลการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูกของ น.ส. บุตรศรัณย์
 

โดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า จากกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.บุตรศรัณย์ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.62 นั้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ขออนุญาตส่องกล้องเข้าไปดูบริเวณหลังโพรงจมูกและพบบริเวณเยื่อบุหลังโพรงจมูกมีสีผิดปกติไป จากปกติขนาดประมาณ 0.5 - 1 ซม. จึงตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อนำมาตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาหาสาเหตุการเสียชีวิต
 


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ระหว่างตัดชิ้นเนื้อพบมีเลือดไหลออกมาจำนวนมาก จึงคาดว่าเป็นบริเวณที่เลือดไหล หลังจากย้อมชิ้นเนื้อ พบว่าเข้าได้กับวัณโรคแต่ไม่พบเชื้อ  คณะฯ จึงได้ทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า PCR (Polymerase Chain Reaction) คือการตรวจหา DNA ของเชื้อวัณโรคได้ผลเป็นบวก (positive) ผลการตรวจ PCR ดังกล่าวและผลการตรวจชิ้นเนื้อจึงบ่งชี้ว่า มีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก  ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อยจากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คนจากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอดร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด เป็นกรณีที่ไม่ปกติจริงๆ เจอน้อยมาก อีกทั้งวัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกพบว่าผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใด ๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง”
 


“ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน ป่วยเป็นวัณโรคที่โพรงจมูก ทั้งหมด 39 ราย พบที่ จ.กาญจนบุรี 1 ราย , จ.ขอนแก่น 23 ราย , รพ.ศิริราช 15 รายและ กทม. 1 ราย โดยรักษาหายทั้งหมด เนื่องจากสามาถตรวจพบก่อน  แต่กรณีของ น.ส.บุตรศรัณย์ ไม่มีแสดงอาการใดใด นอกจากนี้ยังมีเลือดออกมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป และจากการรายงานทั่วโลกยังไม่พบอาการเช่นนี้มาก่อน จึงเป็นกรณีที่ถือว่าหายากมาก” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว  
 

สำหรับการวิธีการรักษานั้น ก็ใช้วิธีการรักษาเหมือนกับวัณโรคทั่วไป ซึ่งในระยะเวลาในการรักษาใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับอาการ วัณโรคจะไม่มีการแสดงออกการออกอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถตอบได้ว่าระยะเวลาที่ น.ส.บุตรศรัณย์ เป็นได้ โดยหลังจากที่ผลการวินิจฉัยออกมา ก็ได้แจ้งให้กับทางครอบครัวน.ส.บุตรศรัณย์ทราบและให้ไปตรวจร่างกายแล้ว
 


ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า ข้อแนะนำสำหรับประชาชนจากกรณีของ น.ส.บุตรศรัณย์  คือ 1.อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลงสามารถเกิดได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัยและสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายอวัยวะ 2.ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบสิ่งผิดปกติใดๆ จำต้องสืบค้นจนพบสาเหตุของความผิดปกตินั้น โดยการตรวจร่างกายประจำปีนั้น สามารถครอบคลุมได้ ร้อยละ 80 ของวัณโรคทั้งหมด  3.แม้การตรวจร่างกายจะปกติแต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่งเช่นน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุเบื่ออาหารมีไข้ต่ำ ๆ คลำได้ก้อนผิดปกติควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
 


ด้าน รศ.นพ.ปรัญญา กล่าวต่อท้ายว่า ทางคณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช ต้องขอขอบคุณครอบครัวของ น.ส.บุตรศรัณย์ เป็นอย่างมาก ที่อนุญาตให้แพทย์ได้มีการนำชิ้นเนื้อไปวินิจฉัย ซึ่งหากเราไม่ได้วินิจฉัย เราจะไม่มีทางทราบเลยว่าสาเหตุการเสียชีวิตคืออะไร และถือว่าเป็นกรณีศึกษาให้กับทางคณะแพทย์และประชาชนให้มีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

หน้าแรก » อาชญากรรม