วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 02:37 น.

อาชญากรรม

จ่อฟันยกแก๊งอดีตปลัดไทรโยค-จนท.ที่ดิน ออกนส.3 ที่ป่าอุทยานฯ 459 ไร่ ให้นายทุนปลูกทุเรียน

วันศุกร์ ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2564, 19.28 น.
วันที่ 9 เมษายน 2564 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตามนโยบาย ทส.ยกกำลัง2+4  ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า หรือครอบครองที่ดินของนายทุน ที่ไม่ชอบโดยกฎหมาย อย่างเด็ดขาด 
 
ทั้งนี้ นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)  นายหิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร ผู้อำนวยการสำนักไต่สวน คดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป.ป.ช.  นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค  คณะเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค รวม 15 นาย เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณบ้านหาดงิ้ว หมู่ที่ 5 ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี กลางหุบเขา ติดแม่น้ำแควน้อย พบปลูกทุเรียนพันธุ์ดี เกือบหมื่นต้น โดยพื้นที่ดังกล่าว อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติไทรโยค โดยมีตัวแทนของเจ้าของที่ดิน เป็นผู้นำตรวจ พร้อมนำเอกสารหลักฐาน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ทะเบียนเลขที่ 51 ถึง 58 จำนวน 8 ฉบับ รวมเนื้อที่ 459ไร่ 39 ตารางวา มาแสดง 
 
สืบเนื่องจากในปีพ.ศ.2562  อุทยานแห่งชาติไทรโยค ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่แห่งนี้ พบมีการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯไทรโยค เจ้าหน้าที่จึงได้ ทำการตรวจยึด พร้อมแจ้งความดำเนินคดี กับเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ชื่อดัง ของจ.กาญจนบุรี ในข้อหาบุกรุก ยึดถือครอบครอง ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค โดยไม่รับอนุญาต ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และส่งเรื่อง ให้ป.ป.ช ดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานละเว้นหรือปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ต่ออดีตปลัดอําเภอไทรโยค และอดีตเจ้าหน้าที่บริหารที่ดิน อำเภอไทรโยค และบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมสนับสนุนเกี่ยวข้อง ในการออกหนังสือ รับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) โดยมิชอบ 
 
ต่อมาคณะเจ้าหน้าที่ฯได้ใช้ เครื่องพิกัด GPS จับค่าพิกัดรอบแปลง ของหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.)ดังกล่าว เพื่อตรวจสอบพื้นที่ รวมทั้งเตรียมชี้มูลเอาความผิด ตามปอ.157 กับอดีตปลัดอำเภอไทรโยค และอดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอไทรโยค และผู้สนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ในการออกหนังสือรับรอ งการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) 8 ฉบับดังกล่าว ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี 
 
นายนิพนธ์ ฯเปิดเผยต่อว่า มูลเหตุในการตรวจสอบ พื้นที่ดังกล่าวครั้งสุดท้าย เพื่อเตรียมชี้มูลความผิดในครั้งนี้เกิดจากในปีพ.ศ. 2554 และในปีพ.ศ. 2557 อุทยานแห่งชาติไทรโยค ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ถึงที่มาของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ทั้ง 8 ฉบับจำนวน 459 ไร่ 39 ตารางวา ดังกล่าวว่า สามารถออกในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ได้อย่างไร เนื่องจากอยู่ในหุบเขากลางป่า ติดแม่น้ำแควน้อย แต่ไม่สามารถตรวจสอบ ที่มาหลักฐานการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) จากสาระบบที่ดินได้ เนื่องจากอำเภอไทรโยค ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2534 ทำให้เอกสารสาระบบที่ดินทั้งหมด ถูกเพลิงไหม้สูญหายไปด้วย  
 
แต่เมื่อตรวจสอบ หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ทั้ง 8 ฉบับ ที่จัดสร้างขึ้นใหม่ แทนฉบับเดิม ที่ถูกเพลิงเผาไหม้เสียหายหมดนั้น ตามประกาศ จังหวัดกาญจนบุรี ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบที่ดินเพื่อจัดสร้างขึ้นใหม่ แทนฉบับเดิม ได้แต่งตั้งกรรมการ ประกอบไปด้วย ปลัดอำเภอ ป่าไม้อำเภอ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ดินอำเภอ ออกไปตรวจสอบ ที่ดิน ที่ราษฎร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ได้ไปยื่นความจำนง เพื่อจัดสร้างหลักฐาน เกี่ยวกับที่ดินขึ้นใหม่ 
 
แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการตามคำสั่ง อำเภอไทรโยค ที่ 81/ 2534 ลงวันที่ 2 เมษายน 2534 ประกอบไปด้วย ปลัดอําเภอไทรโยค และเจ้าหน้าที่บริหารที่ดิน อำเภอไทรโยค ในขณะนั้น เพียงสองนาย ที่เป็นผู้รับรองหนังสือ รับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 8 ฉบับดังกล่าว จำนวน 459 ไร่ 58 ตาราวา ว่าไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  อุทยานแห่งชาติ  เขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะมนตรี  และเขตหวงห้ามที่ดิน เพื่อใช้ในราชการทหาร ตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2481 
 
จากการตรวจสอบ ของอุทยานแห่งชาติไทรโยคพบว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)ทั้ง 8 ฉบับ รวมจำนวน 459 ไร่ 39 ตารางวานั้น อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ.2523 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าวังใหญ่ และป่าแม่น้ำน้อย ประกาศในปีพ.ศ. 2512 และอยู่ในเขตป่าถาวร ตามมติคณะมนตรีใน ปีพ.ศ. 2516  เมื่อตรวจสอบแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ 1 ธันวาคม 2497 ก็ไม่พบร่องรอย การเข้าทำประโยชน์แต่อย่างใด เป็นป่าเบญจพรรณหมดทั้งแปลง 
 
คณะเจ้าหนัาที่ฯเห็นว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) จำนวน 8 ฉบับ ดังกล่าว เป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายขัดกับ ระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ 2498 ข้อ 3 ( 1 ) ที่ดินที่จะจัดให้ ประชาชนอยู่อาศัย หรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ จะต้องเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่ง ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ดิน ซึ่งมิได้มีบุคคลใดได้มีสิทธิครอบครองและ มิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือมิใช่ที่สงวนหวงห้าม หรือไม่ใช่ที่เขา ที่ภูเขา ขัดกับ กฎกระทรวงฉบับที่ 2 ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ 2497 ข้อ 3 ที่ดินที่ออกให้ ต้องเป็นที่ดิน ที่ได้ทำประโยชน์แล้ว ขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 5 ออกตามประมวลกฎหมายที่ดินข้อ 8  (2 )ห้ามออกโฉนด หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในที่เขา ที่ภูเขาหรือที่สงวนหวงห้าม หรือที่ดินซึ่งราชการเห็นว่า ควรสงวนไว้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ ขัดกับระเบียบของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ. 2515 ข้อ 7 (2)ข้อ9 (1 )การออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องไม่อยู่ในเขต ที่ได้ทางราชการจำแนกไว้เป็นเขตป่าถาวร  
 
คณะเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. จึงได้มาตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเตรียมดำเนินการชี้มูล เอาความผิด กับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และเตรียมชี้มูลให้กรมที่ดิน เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ( น.ส.3ก) จำนวน 8 ฉบับ เนื้อที่รวม 459ไร่ 39 ตารางวา ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าว ตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน เพื่อประชาชนของคนไทยทุกๆคน  หลังจากกรมที่ดิน เพิกถอนหนังสือหนังสือรับรองการทำประโยชน์( น.ส.3ก) จำนวน 8 ฉบับดังกล่าวแล้ว อุทยานแห่งชาติไทรโยค จะนำมาฟื้นฟูสภาพป่า กลับคืนมา ตามสภาพธรรมชาติดังเดิมต่อไป 

หน้าแรก » อาชญากรรม