วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 09:31 น.

เศรษฐกิจ

"กรณ์" เดินหน้า ยื่น กกพ.สอบ "จีพีเอสซี" ซื้อหุ้น "โกลว์"

วันพุธ ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561, 18.29 น.

"กรณ์" เดินหน้า ยื่น กกพ.สอบ "จีพีเอสซี" ซื้อหุ้น "โกลว์" 

 

"กรณ์" ยื่น กกพ. สอบ "จีพีเอสซี" ซื้อหุ้น "โกลว์" ชี้ไม่เป็นธรรมเอกชน เตือนพิจารณารอบคอบ ลุยยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงศาล รธน.ตีความ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 พร้อมแนะ ปตท.ขายธุรกิจกาแฟอเมซอน

 

วันที่ 12 ก.ย.61 ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชั้น 19 อาคารจามจุรีสแควร์ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เดินเข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณี บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) ให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท.  เข้าซื้อหุ้นบริษัท  โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)

 

นายกรณ์ เปิดเผยภายหลังยื่นหนังสือว่า ต้องการให้ กกพ.ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติโอนย้ายใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน เข้าไปตรวจสอบกรณีการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวของเครือ ปตท.ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เข้าไปแข่งขันกับเอกชนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 ที่มีข้อห้ามให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจเพื่อแข่งขันกับเอกชน ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการกังวลและร้องเรียนความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจาก ปตท. เป็นผู้ค้าก๊าซรายใหญ่และรายเดียวในประเทศ แม้จะมีการเปิดเสรีธุรกิจแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีเอกชนรายใดเข้ามาแข่งขัน จึงทำให้ปัจจุบัน ปตท.ยังคงผูกขาดและได้เปรียบในธุรกิจก๊าซรายใหญ่และรายเดียว ที่อาจจะกระทบต่อการแข่งขันธุรกิจปิโตรเคมี

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ปตท.จะชี้แจงว่าการเข้าซื้อหุ้นโกลว์ เป็นการดำเนินการโดย จีพีเอสซี ที่มีสถานะเป็นเอกชน ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นในจีพีเอสซี ในสัดส่วน 20%  แต่หากรวมถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมแล้ว มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ขณะที่สัดส่วนการลงทุนร่วมกันจะมีเพียง 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 4-5 พันเมกะวัตต์ ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการปิโตรเคมีในมาบตาพุด เช่น กลุ่มเอสซีจี ก็ยื่นคัดค้าน เพราะกังวลเรื่องความโปร่งใสและไม่เป็นธรรมในการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำในอนาคต ดังนั้น จึงขอให้ กกพ.พิจารณาเรื่องความเป็นธรรมในการแข่งขันอย่างรอบคอบ

 

“กกพ.จะพิจารณาตามกฏหมายภายใน 90 วัน ซึ่ง GPSC ยื่นมาให้พิจารณาแล้วจะครบ 27 ก.ย.นี้ และสามารถขยายการพิจารณาอีก 15 วัน หากพิจารณาในแง่ของพื้นที่มาบตาพุดการควบรวมทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 90% และในแง่ความได้เปรียบยังมีการผูกขาดก๊าซธรรมชาติ และสิ่งสำคัญแง่กฏหมายคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 ระบุว่า ห้ามรัฐทำธุรกิจแข่งเอกชนจึงต้องตีความ ซึ่งการเรียกร้องนี้ก็สอดคล้องกับเอกชน 10 ราย ที่ทำหนังสือถึง กกพ. ที่กังวลว่า ปตท. ผูกขาดก๊าซในมาบตาพุดจึงให้ทบทวนแผนซื้อหุ้นดังกล่าว เพราะอาจกระทบกับความสามารถทางการแข่งขัน” นายกรณ์กล่าว

 

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะไปยื่นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาว่าการควบรวมกิจการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 75 หรือไม่หากขัดก็จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป และหากกกพ.พิจารณาแล้วไม่มีอะไรสามารถควบรวมได้ก็จะเกิดการโอนเงินซื้อขายหุ้นจำนวน 1 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ที่จะได้รับเงินดังกล่าวเป็นบริษัทต่างชาติที่จะรับโอนเงินออกนอกประเทศถึง 7 หมื่นล้านบาทและหากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดจริงหากมีการซื้อขายหุ้นไปแล้วใครจะรับผิดชอบ กกพ.จึงควรจะพิจารณาให้ละเอียด ทั้งนี้ตนได้ชี้ให้ประธานกกพ.เห็นว่าจะต้องดูในแง่ของการแข่งขันที่เป็นธรรมและกรณีไฟฟ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีพันธกิจชัดเจนอยู่แล้วแต่ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่งไม่ได้มีพันธกิจด้านไฟฟ้าแต่กลับไปซื้อโรงไฟฟ้าเอกชนมาเป็นของรัฐในเชิงนโยบายประชาชนได้อะไร

 

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ยังเห็นว่าปตท.ไม่ควรจะทำธุรกิจกาแฟ อเมซอนเพราะไม่ใช่พันธกิจที่ต้องไปแข่งขันกับร้านกาแฟทั่วไปโดยเฉพาะกับชาวบ้านที่เป็นเอสเอ็มอีจึงควรจะขายหุ้นให้กับประชาชนที่เป็นเจ้าของร้านกาแฟซึ่งทราบว่าขณะนี้ก็เป็นแฟรนไชส์ถึง 90% อยู่แล้ว และมองว่ากรณีนี้เองก็ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 เช่นกัน