วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 06:42 น.

เศรษฐกิจ

ทช.เปิดใช้เป็นทางการแล้วสะพานข้ามทางรถไฟ-อุโมงค์ลอดจ.ประจวบฯ

วันเสาร์ ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2562, 14.55 น.

ทช.เปิดใช้เป็นทางการแล้วสะพานข้ามทางรถไฟ-อุโมงค์ลอดจ.ประจวบฯ 

         

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานข้ามทางรถไฟและอุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟ กับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1021 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 – บ้านหน้าป้อม อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวรายงาน พร้อมนำชมนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ณ บริเวณโครงการ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นได้เดินทางไปโรงเรียนบ้านหนองข้าวเหนียว เพื่อทำกิจกรรม CSR อีกด้วย สำหรับโครงการสะพานข้ามทางรถไฟและอุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟนั้น ถือว่าอยู่ในแผนโครงการ โดยรัฐบาลให้การความสนใจกับการก่อสร้างโครงการ ซึ่งบริเวณดังกล่าวก็จะเป็นจุดเชื่อมต่อโครงการทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน)อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการจะต้องมาพร้อมความปลอดภัย สำหรับโครงการจุดตัดทางรถไฟนั้นได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553-2556 ดำเนินการได้4แห่ง ทั้งนี้ ในการดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบันได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการ เน้นเรื่องความปลอดภัย
           

 

สำหรับจุดตัดทางรถไฟที่อยู่ในการดูแลกรมทางหลวงชนบท (ทช.)นั้น ที่มีความสำคัญต้องดำเนินการทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ 23 แห่ง โดยจะเสร็จตามแผนในปี 2563 ซึ่งนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว 8แห่ง เหลือ 15แห่ง โดยได้เร่งรัดให้เรียบร้อยภายในปี 2563 ให้เกิดความสะดวกและชาวบ้านที่สัญจรก็จะต้องปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีจุดตัดทางรถในส่วนของกรมทางหลวง (ทล.) ด้วย ที่ต้องดำเนินการ
         

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช.มีถนนในความรับผิดชอบ ที่มีจุดตัดผ่านทางรถไฟกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 153 แห่ง และด้วยปัจจุบันปริมาณการจราจรบนถนนดังกล่าวมีจำนวนสูงขึ้นทำให้เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับยานพาหนะบ่อยครั้ง ทช.จึงมีแผนปรับปรุงจุดตัดผ่านทางรถไฟดังกล่าว ให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในการก่อสร้างเป็นทางต่างระดับในรูปแบบของสะพานหรืออุโมงค์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุอย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยในการสัญจรของรถไฟและยานพาหนะบนถนนทางหลวงชนบท รวมทั้งเป็นการสนับสนุนโครงการพัฒนาการขนส่งระบบรางโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
           

 

อย่างไรก็ตาม ทช.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางเป็นสะพานข้ามทางรถไฟ ที่มีพื้นสะพานเป็นโครงสร้างพิเศษ ความยาว 340 เมตร พร้อมทางกลับรถใต้สะพานและถนนต่อเชื่อมสองฝั่ง ความยาวรวม 985 เมตร พร้อมก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางรถไฟ ความยาว 126.11 เมตร สำหรับพาหนะขนาดเล็ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ และได้ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 175.370 ล้านบาท
         

สำหรับโครงการดังกล่าวได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรอย่างไม่เป็นทางการแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้มีความสะดวกรวดเร็วในการสัญจรของรถไฟและยานพาหนะบนถนนทางหลวงชนบท