วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 11:44 น.

เศรษฐกิจ

การท่าเรือ พร้อมบริหารท่าเรือคลองใหญ่ระดับขนส่งสินค้า

วันอังคาร ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 16.20 น.

การท่าเรือ พร้อมบริหารท่าเรือคลองใหญ่ระดับขนส่งสินค้า

 

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ว่าการท่าเรือฯ ได้กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เกี่ยวกับด้านคมนาคมขนส่งไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 7 ประกอบด้วย  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ โดยมุ่งเน้นการขยายขีดความสามารถ สนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและในอาเซียนอย่างเป็นระบบมีโครงข่ายเชื่อมโยงภายในประเทศที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ จึงได้จัดทำแนวทางเพื่อใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นท่าเรือที่กระทรวงคมนาคมวางยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออก เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านรองรับสินค้าระหว่าง ไทย กัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กทท. อยู่ระหว่างเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าบริหารและประกอบการตามแผนฯ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนตุลาคม 2562 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐที่ต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และมติคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ให้ กทท. เป็นผู้บริหารท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด กทท.ในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการท่าเรือ และต้องดำเนินการภายใต้นโยบายรัฐบาล จึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและการเตรียมความพร้อมในการเข้าบริหาร พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมธนารักษ์ กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการเดินเรือและขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจระบุว่า สำหรับภาวะการค้าผ่านแดนไทย - กัมพูชา ในภาพรวม ปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 145,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 16 โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าขาออก 84% และสินค้าขาเข้า 16% ด่านการค้าสำคัญที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ (62%) ด่านศุลกากรคลองใหญ่ (20%) ด่านศุลกากรจันทบุรี (9%) ด่านศุลกากรช่องจอม (5%) และด่านศุลกากรช่องสะงำ (1%) สินค้าส่งออกที่สำคัญ 5อันดับแรก ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบฯ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ และยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ สำหรับสินค้านำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ผักและของปรุงแต่จากผัก ลวดและสายเคเบิลที่หุ้มฉนวน อะลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูปและสัตว์น้ำ