วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 22:32 น.

เศรษฐกิจ

การเคหะเร่งรัดโครงการร่วมทุนกับเอกชน

วันศุกร์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 07.50 น.

การเคหะเร่งรัดโครงการร่วมทุนกับเอกชน

 

รมว.พม.  เร่งรัดผลักดันโครงการร่วมทุนเอกชนของการเคหะแห่งชาติ มูลค่า 7- 8 หมื่นล้านบาท พร้อมสั่งให้ระบายขายซังค์คอสท์-อาคารคงเหลือ เพิ่มรายได้ ลดภาระของการเคหะฯ โดยเร็ว

ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการเคหะแห่งชาติ ได้เร่งรัดให้การเคหะแห่งชาติดำเนินการโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (Public Private Partnership-PPP) โดยดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อที่รัฐจะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาโครงการมากนัก อีกทั้งยังใช้ประโยชน์จากที่ดินที่การเคหะแห่งชาติถือครองอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยกระทรวงฯ พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่เนื่องจากเป็นนโยบายต่อเนื่องของรัฐบาล

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติจัดแบ่งประเภทการร่วมทุนเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การร่วมลงทุนภาคเอกชน (Joint Investment)วงเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท/โครงการ จำนวน 5 โครงการ มูลค่า 50,000-60,000 ล้านบาท โครงการร่วมดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Joint Operation) วงเงินลงทุนน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท/โครงการ จำนวน 7-8 โครงการ มูลค่ารวม 2,000-3,000 ล้านบาท และโครงการร่วมสนับสนุนภาคเอกชน (Joint Support) โดยเอกชนเป็นเจ้าของโครงการ และการเคหะแห่งชาติทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินโครงการ ขณะนี้ได้มีผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 20 ราย และจะเริ่มลงมือได้ก่อนเลย 10 โครงการ

“เมื่อรวมโครงการร่วมทุนทั้ง 3 ประเภทแล้ว จะมีมูลค่าโครงการ 70,000 - 80,000 ล้านบาท หากดำเนินการได้เร็วก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไปในตัว” ดร.ธัชพลกล่าว

นอกจากนั้น ยังเร่งรัดการขายสินทรัพย์รอการพัฒนา (Sunk Cost) จำนวน 94 แปลง 3,087 ไร่ และหน่วยคงเหลือโครงการบ้านเอื้ออาทร 8,521 หน่วย จาก 325 โครงการ เพื่อสร้างรายได้และลดภาระการเคหะแห่งชาติ เนื่องจากค้างคามานานและไม่อาจขายได้จากข้อติดขัดบางประการ โดยเฉพาะการปรับลดราคาเพื่อส่งเสริมการขาย

“สินทรัพย์เหล่านี้มีทั้งที่ดินเปล่า โครงการที่สร้างยังไม่เสร็จ และที่เสร็จแล้วแต่ยังใช้การไม่ได้ ถ้าขายออกหมด การเคหะแห่งชาติก็มีรายได้เข้ามา ไม่ต้องแบกรับภาระโครงการเหล่านี้ต่อไป ไม่อย่างนั้นเป็นดินพอกหางหมูสร้างปัญหาทางการเงินอีกด้วย”

ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวด้วยว่า กคช.มีแนวคิดที่จะขายยกทั้งโครงการ โดยการเคหะแห่งชาติขายเอง หรือจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เข้ามาซื้อแทน  เพื่อขจัดปัญหาทรัพย์สินคงค้างเหล่านี้ออกไป