วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 00:23 น.

เศรษฐกิจ

ดึงศักยภาพ อปท. ทั่วประเทศ ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก

วันพุธ ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 08.38 น.

ดึงศักยภาพ อปท. ทั่วประเทศ

ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก

 
 
งานพัฒนาแหล่งน้ำ นอกเหนือจากหน่วยงานส่วนกลางแล้ว ยังมีหน่วยงานระดับท้องถิ่นหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย
 
               ที่ผ่านมา บทบาทของส่วนกลางที่มีหลากหลายหน่วยงานครองบทบาทหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำแทบทั้งสิ้น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อย่างเก่งคือ รับถ่ายโอนโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กจากกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมชลประทาน ตามโครงสร้างการปฏิรูประบบราชการ ยกเว้นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กรมชลประทานยังคงดูแลเอง
 
               เอาเข้าจริง การถ่ายโอนสร้างปัญหาให้ อบต. หลายประการ ทั้งงบประมาณ บุคคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ท่ามกลางปัญหาน้ำในพื้นที่ ทั้งน้ำขาดแคลน น้ำท่วม คุณภาพน้ำ กระทบการทำกินของราษฎร
 
               “เป็นหลักการที่ดีตามหลักการกระจายอำนาจและตรงกับความต้องการในพื้นที่โดยตรง แต่ในชั้นต้น อบต. อาจขาดความพร้อม” ดร.สมเกียรคิ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ท้าวความ
 
               อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกกำหนดให้เป็นความรับผิดชอบ อปท. จำเป็นต้องเรียนรู้พัฒนายกระดับตัวเอง เพื่อรองรับงานที่ถ่ายโอนมาตั้งแต่ปี 2544 หรือร่วม 20 ปีมาแล้ว
 
               เพื่อให้เห็นโครงสร้างโครงการน้ำ ดูได้จากงบประมาณประจำปีด้านน้ำของประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน
 
               ส่วนแรก เป็นงบบูรณาการด้านน้ำ หน่วยงานพัฒนาแหล่งน้ำหลักๆ เป็นกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ โดยปัจจุบันมี สทนช. ทำหน้าที่กำกับแผนงาน โครงการ งบประมาณ และติดตามประเมินผล
 
               ส่วนที่สอง เป็นงบภาคที่กระจายตามกลุ่มจังหวัด และจังหวัดต่างๆ มีสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำกับ
 
               ส่วนที่สาม เป็นงบประจำ ประเภทซ่อมบำรุงและงบวิจัยของทุกหน่วยงานด้านน้ำ กระทรวงนั้นๆ เป็นผู้ดูแล
 
               “งบบูรณาการด้านน้ำจะมีสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 65% ของงบน้ำทั้งหมดในปีงบประมาณ 2562” ดร.สมเกียรติกล่าว และแม้ว่าสภาพัฒน์จะกำกับงบภาค แต่ในทางปฏิบัติได้ สทนช. ช่วยกลั่นกรองให้ ทำให้ภาพการบริหารจัดการน้ำของประเทศชัดเจนโปร่งใสยิ่งขึ้น ทั้งแผนงานโครงการและงบประมาณ ไม่ซ้ำซ้อนกัน             บทบาทของ สทนช. ในฐานะองค์กรกลางด้านน้ำชัดเจนมาก
 
               ทิศทางการบูรณาการน้ำ ภายใต้ สทนช. จึงชัดเจนขึ้นเป็นลำดับด้วย
 
โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ต่อไปต้องเป็นความรับผิดชอบของ อบต. ทั้งสิ้น หน่วยงานอื่นไม่สามารถเข้าไปแทรกได้เหมือนเก่า
 
“การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ความจุต่ำกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตรลงมา ในปีงบประมาณ 2563 เป็นโครงการของ อบต. โดยตรง หน่วยงานอื่นหมดสิทธิ  หาก อบต. มีปัญหาทางด้านเทคนิค อาจอาศัยหน่วยงานอื่นที่ชำนาญเข้ามาช่วย เช่น การออกแบบโครงการ การก่อสร้าง ทำให้ อบต. เองพัฒนายกระดับดีขึ้นเรื่อยๆ”
 
เครื่องมือสำคัญในการผลักดันให้ อปท. เข้ามามีบทบาทในงานพัฒนาแหล่งน้ำ หลักๆ จะเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ในคณะกรรมการประกอบด้วยหน่วยงานเกี่ยวข้องด้านน้ำ ตัวแทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิ และมีตัวแทน สทนช. ภาคเป็นกรรมการและเลขานุการ
 
“ต่อไปการพัฒนาแหล่งน้ำจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีเจ้าภาพที่ไม่ซ้ำซ้อนครบถ้วนทุกขนาดโครงการ  ตั้งแต่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก  และเชื่อมโยงบูรณาการกัน ต่างไปจากเดิมที่ปล่อยหลวมๆ ไม่มีข้อจำกัดและไม่มีใครกล้าฟันธงว่าควรเป็นแผนงานโครงการใด ควรดำเนินการเมื่อไร และหน่วยงานใดควรรับผิดชอบ ทำให้เกิดภาวะใครมือยาวสาวได้สาวเอา แต่อาจไม่ตอบโจทย์การพัฒนาแหล่งน้ำและการกระจายอำนาจ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
 
ทั้งนี้ นอกเหนือจากพื้นที่ชลประทาน 30 ล้านไร่ แหล่งเก็บกักน้ำที่มีความจุรวมกว่า 70,000 ล้านลูกบาศก์เมตรที่มีอยู่แล้ว  ตามแผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปียังมีพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาอีก 31 ล้านไร่ ประกอบด้วย พื้นที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำ 13,000 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ใช้ประโยชน์ 13 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำ 12,000 ล้าน ลบ.ม.
 
 “หลักๆ ของ อบต. จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ใช้ประโยชน์ 13 ล้านไร่ ร่วมกับหน่วยงานน้ำอื่น เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นต้น ส่วนพื้นที่มีศักยภาพ 18 ล้านไร่ เจ้าภาพหลักจะเป็นกรมชลประทานกับกรมทรัพยากรน้ำ” ดร.สมกียรติกล่าว
 
ทิศทางของ อบต. ในอนาคตจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ การเป็นศูนย์ข้อมูลสถานการณ์น้ำของจังหวัดที่รับตรงต่อผู้ว่าราชการเช่นเดียวกับหน่วยงานน้ำในส่วนกลาง และเติมเต็มข้อมูลแหล่งน้ำระดับเล็กที่มีนับแสนๆ แห่งทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจรวบรวมข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
 
เป็นบทบาทใหม่ของจังหวัดและท้องถิ่นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง