วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 03:15 น.

เศรษฐกิจ

"อุตตม"โพสต์แจง"ทำไม???ต้องช่วยฐานราก"

วันจันทร์ ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 20.24 น.

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562  ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความว่า  ทำไม??? ต้องช่วยฐานราก มีการตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลจึงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจฐานราก ไม่ว่าจะเป็นการประกันรายได้ภาคเกษตร การตั้งงบประมาณอุดหนุนกองทุนหมู่บ้านเพิ่มเติม การสนับสนุนการจับจ่ายผ่านโครงการ ชิมช้อปใช้ โครงการช่วยเหลือการมีที่อยู่อาศัยต่างๆ ฯลฯ

อย่างที่บอกว่า มาตรการทั้งหมดดังกล่าว เป็นการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้หยุดชะงัก และส่งผลต่อเนื่องไปปีหน้า ชดเชยอุปสรรคการส่งออกของเราที่สะดุดตามภาวะเศรษฐกิจโลก และเป็นการอัดฉีดเงินเข้าถึงมือประชาชนโดยตรง ผ่านกลไกมาตรการ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการให้เปล่าเสียทั้งหมด ทุกโครงการมีการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแฝงอยู่ด้วย

ตัวอย่างเช่น เงินกองทุนหมู่บ้าน ก็เป็นการมอบให้กลุ่มสมาชิกกองทุนไปดำเนินกิจกรรมหรือสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อยอดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน จำนวน 71,742 แห่ง ที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับ A B และ C แห่งละไม่เกิน 200,000 บาท (กรอบระยะเวลาเบิกจ่ายไม่เกิน 6 เดือน) ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ (สทบ.) ภายใต้วงเงินรวม 14,348.4 ล้านบาท

โครงการชิมช้อปใช้ ก็สนับสนุนให้สินค้าชาวบ้านค้าขายได้ การส่งเสริมให้คนมีที่อยู่อาศัยก็ทำให้เกิดกิจกรรมการก่อสร้าง ซึ่งมีซัพพลายเชน ต่อเนื่องไปถึงขึ้นแรงงาน เป็นต้น

สำหรับรายงานการใช้จ่ายของประชาชนในโครงการ “ชิมช้อปใช้” ทั้ง 3 เฟส ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ถึง 1 ธันวาคม 2562 มีผู้ใช้สิทธิ์รวม 11,769,870 ราย มีการใช้จ่ายรวม 17,872 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายจาก g-Wallet ช่อง 1 จำนวน 11,619 ล้านบาท

g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวน 247,020 ราย มียอดการใช้จ่ายรวม 6,252 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 25,314 บาท โดยยอดใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด

ส่วนการประกันรายได้ หรือการช่วยเหลือเกษตรกรต่างๆ ก็มีการวิเคราะห์กันอย่างละเอียดในการช่วยเหลือในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด และไม่กระทบวินัยการเงินทั้งในระดับมหภาค และจุลภาค

ตัวอย่างมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 62/63 เฉพาะเกษตรกรรายย่อยอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาทต่อครัวเรือน ให้กับเกษตรกรชาวนาที่มีทั้งหมด 4.5 ล้านราย จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 27,000 ล้านบาท

กล่าวถึงการช่วยเหลือเกษตรกร ผมคิดว่าเรายังต้องช่วยเหลือ เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถอยู่ได้ ประเทศก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน

ทั้งนี้ผมยึดมั่นว่า การที่สังคมหรือประเทศจะอยู่ได้ เราต้องก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกัน เกษตรกรถือเป็นต้นน้ำในการผลิตวัตถุดิบ หากสามารถยกระดับเพิ่มมูลค่าสินค้าขึ้น ก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภาคเอกชนหลายๆแห่งก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้ โดยร่วมเป็นหัวขบวนในการดึงเศรษฐกิจฐานราก เช่นเดียวกับภาครัฐก็มีหน้าที่ในการสนับสนุนให้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกๆพื้นที่

วันนี้กรรมาธิการงบประมาณปี 2563 ได้เดินหน้าพิจารณากันอย่างเต็มที่ เพื่อให้งบประมาณออกมาใช้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะงบประมาณส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่จะมีส่วนเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งผมก็ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ โดยเรื่องนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างในความร่วมมือกันเพื่อการขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจประเทศ