วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 07:52 น.

เศรษฐกิจ

การเคหะโยงข้อมูล พม.-คลัง ตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัย

วันศุกร์ ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562, 10.20 น.

การเคหะโยงข้อมูล พม.-คลัง ตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัย
 

 
การเคหะแห่งชาติขอเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลที่อยู่อาศัยทั้งจากกระทรวง พม.-คลัง มุ่งบริหารบิ๊กดาต้า สร้างประโยชน์ในการวางแผนตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าตรงจุด เสนอปรับขั้นตอนการพิจารณาโครงการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กระชับขึ้น
 
ดร.ธัชพล กาญจนกูล  ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยถึงโครงการศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยว่า การเคหะแห่งชาติได้ข้อสรุปการเชื่อมโยงข้อมูลที่อยู่อาศัยแล้ว โดยอาศัยแหล่งข้อมูลใหญ่ 2 แหล่ง คือ แหล่งข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ กระทรวงการคลัง โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 “การเคหะแห่งชาติเล็งเห็นถึงประโยชน์และความจำเป็นในการใช้บิ๊กดาต้าเหล่านี้  ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน เราคงเข้าไปดำเนินการอย่างจริงจังภายในปี 2563 นี้”
 
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวว่า  เมื่อเชื่อมโยงข้อมูลจาก 2 แหล่งใหญ่ดังกล่าวแล้ว จะทำให้ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยมีข้อมูลจำนวนมากที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสำรวจ วิเคราะห์ ความต้องการ จำนวนที่อยู่อาศัยที่มีอยู่และสต็อกที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งจำเป็นสำหรับกำหนดยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย วางแผนการตลาด และการลงทุนก่อสร้างหรือร่วมทุนกับเอกชน
 
“ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มคนมีรายได้น้อย เราจะได้ข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ส่วนข้อมูลด้านสังคม ประชากรวัยเด็ก วัยทำงาน ผู้สูงอายุ จะอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ในขณะที่การเคหะแห่งชาติเองก็มีข้อมูลที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ข้อมูลจากทั้งสามส่วนจะช่วยให้เห็นรายละเอียดหลายมิติที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน  ในฐานะหน่วยงานพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเกิดประโยชน์มากมายทั้งในเชิงพาณิชย์ การพัฒนา และการตลาด”
 
อย่างไรก็ดี ดร.ธัชพลกล่าวว่า  กระบวนการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติยังมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน ต้องใช้เวลาพิจารณานาน เช่น จะก่อสร้างแต่ละโครงการได้ต้องมีสัดส่วนผู้จอง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะได้รับการอนุมัติแต่กว่าจะได้ลงมือก่อสร้างต้องรออีก 2 ปี
 
“ขั้นตอนเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ทำให้เราเสียโอกาสในการตอบสนองกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น เพราะบางส่วนเขาไม่รอเราแล้ว และยังทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้นด้วย เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาทบทวน” ดร.ธัชพลกล่าว