วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 23:02 น.

เศรษฐกิจ

สร้างโอกาสการค้ายุค New Narmol ด้วย DITP Business AI มุ่งใช้ประโยชน์ Big Data เพิ่มยอดส่งออก

วันเสาร์ ที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2563, 07.55 น.
สร้างโอกาสการค้ายุค New Narmol ด้วย DITP Business AI มุ่งใช้ประโยชน์ Big Data เพิ่มยอดส่งออก
 
         
กรมส่งเสริมการค้าระหว่งประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ร่วมกับ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เพิ่มโอกาสการส่งออกต่างประเทศด้วย DITP Business AI” ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 34 ราย จาก 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่กลุ่มสินค้าสมุนไพร กลุ่มสินค้าผลไม้ และกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร
 
       
นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมว่า “ถือเป็นครั้งแรกที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมในรูปแบบสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล Big Data ด้านการค้าระหว่างประเทศ ผ่านการประมวลผลจากระบบปัญญาประดิษฐ์ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP Business AI) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ในการแสวงหาโอกาสทางการค้าได้อย่างเหมาะสม ตามแนวโน้มสถานการณ์การค้าโลก และพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ของกระทวงพาณิชย์ ที่เน้นการใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านการตลาดอย่างชาญฉลาด เป็นกลไกในการนำไปสู่การวางแผนการบวนการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
     
ด้านนายพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักสารสนเทศและการบริการการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของความร่วมระหว่างกรม และ สวทช. ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ การผลักดันผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพจาก โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ด้วยความคาดหวังในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ Data Analytics ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ และถือเป็นก้าวแรกของผู้ประกอบการที่จะได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลจากระบบปัญญาประดิษฐ์ (DITP Business AI) และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดกิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นโมเดลในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีจากภาครัฐในการสนับสนุนโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มอื่นต่อไป และนอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้แล้ว งานนี้กรมเองก็ยังมีโอกาสได้รับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมงานสัมมนาด้วย
       
ทั้งนี้ หนึ่งในผู้ประกอบการ ที่มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาเผยความรู้สึกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วมการสัมมนาในลักษณะ Workshop วิเคราะห์ข้อมูล Big Data ทำให้มีความรู้สึกว่าข้อมูลที่มีอยู่มากมายทั่วโลก หากมีเครื่องมือที่ช่วยรวบรวมหรือกลั่นกรองข้อมูลที่เป็นประโยชน์ตรงกับความต้องการของธุรกิจเรา ก็จะสามารถสร้างโอกาสและแนวทางการต่อยอดทางธุรกิจอย่างได้ดียิ่งขึ้น  จึงอยากให้กรมจัดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ต่อไป