วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 22:02 น.

เศรษฐกิจ

EEC-ปตท.-กนอ.พัฒนาระบบห้องเย็นผลไม้ไทย

วันจันทร์ ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564, 13.30 น.
EEC-ปตท.-กนอ.พัฒนาระบบห้องเย็นผลไม้ไทย
 
 
 
อีอีซี จับมือ ปตท. และ กนอ. ลงทุนพัฒนาระบบห้องเย็นผลไม้ไทยภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกเพื่อยกระดับการพัฒนาภาคเกษตรใน อีอีซี
 
                       
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานและนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC ) โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ
คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อาคาร กสท โทรคมนาคม ชั้น 25 
 
นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า การเดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ถือเป็นก้าวสำคัญ เสริมความแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากสำคัญของประเทศ บันทึกความร่วมมือฉบับนี้
 
 
จะพัฒนาโครงการฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดย ปตท. ที่มีความพร้อมด้านห้องเย็น จะนำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร กนอ. จะสนับสนุนการจัดหาพื้นที่ และ สกพอ. จะประสานความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบห้องเย็น ให้บริการเก็บรักษา สินค้าคุณภาพดี สดใหม่ และรสชาติยังดีคงเดิม ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง เมื่อโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกสำเร็จ ชาวสวนจะมีรายได้ดีมั่นคง สม่ำเสมอ รวมทั้งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตรแข่งขันได้ทั่วโลกเสริมความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก
 
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการจัดทำระบบห้องเย็น ซึ่งเป็นโครงการหลักของโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ให้สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยมอบให้ กนอ. จัดหาที่ดิน
ในโครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในระยะเริ่มต้น 40 ไร่ โดยมั่นใจว่าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชาวสวนแล้ว ยังจะดึงดูดให้อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เข้ามาลงทุนในนิคมฯ เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 
นายคณิศ กล่าวว่า โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC ที่ปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตาม "ความต้องการของตลาด"  (Demand Driven Approach) คือ การวางธุรกิจทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ ไปกำหนดวางวิธีการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องของตลาด  
ในขณะเดียวกัน ก็จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยให้เกิดการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต โดยโครงการ EFC จึงประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ1.ศึกษา ติดตาม ความต้องการของตลาด ในเรื่องนี้ สกพอ. กำลังศึกษาความต้องการตลาดต่างประเทศและในประเทศ ของ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ของภาคตะวันออก เป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 64 เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ
2.การวางระบบการค้าสมัยใหม่ จะเป็นการค้าผ่าน e-commerce และ e-auction รวมทั้งการลงทุน packaging จากวัสดุธรรมชาติ ให้สามารถขนส่งทางอากาศได้สะดวก เพื่อให้ผลไม้ของภาคตะวันออกเข้าสู่ตลาดสากลได้ทันที
3.การลงทุนทำห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย  ซึ่งเป็นโครงการที่เราจะลงนาม Mou ในวันนี้
4. การจัดระบบสมาชิก ชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ ที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตพรีเมียมตรงความต้องการของตลาด เรื่องนี้ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง และจะส่ง
ผลประโยชน์ให้เกษตรกรโดยถ้วนหน้
ความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ฝ่ายคือ 
1. ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนจัดทำระบบห้องเย็นทันสมัยขนาด 4,000 ตัน ส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยี Blast freezer เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และระบบ Cold storage ที่จะรักษาคุณภาพผลไม้นั้นให้ขายได้ตลอดปี ไม่ต้องรีบส่งตัด-รีบขาย-รีบส่ง เช่นในปัจจุบัน2.การนิคมแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้หาพื้นที่ โดยกำหนดว่าจะเป็นพื้นที่บริเวณ Smart Park ที่มาบตาพุด
 
 
3.สำนักงาน EEC จะเป็นผู้วางกลไกการบริหาร และประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาบริหารโครงการ โดยเฉพาะ เอกชนผู้เชี่ยวชาญการค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประโยชน์จากโครงการกลับไปสู่ประชาชนในพื้นที่โครงการนี้จะนำร่องด้วยทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ของไทย รวมทั้งผลไม้อื่นๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหารทะเล ที่ต้องการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้สดใหม่ สีสรรน่ารับประทาน และสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกรไทย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กิจกรรมแปรรูป การประมูลสินค้า และการส่งออก ต่อไป