วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 19:20 น.

เศรษฐกิจ

“รฟม.” MOU “NBM” ผุดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีชมพูเข้าเมืองทอง

วันอังคาร ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 17.37 น.
“รฟม.” MOU “NBM” ผุดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีชมพูเข้าเมืองทอง  
 
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ    
 
นายอนุทิน กล่าวว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานีนั้น มีระยะทาง 3 กิโลเมตร ทั้งนี้ มีความมั่นใจว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการในแต่ละวันจำนวนมาก ซึ่งสามารถรับรองได้วันละ 15,000 คน/เที่ยว/วัน และเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี โดยถือว่าเป็นทางเลือกด้านการเดินทางได้เต็มรูปแบบ ที่สำคัญจะสามารถลดปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดี คาดว่าจะสามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนไม่เกินปี 2567  โดยจะสร้างการลงทุนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้อีกด้วย สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการรับสัมปทานของบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งผู้รับสัมปทานจะต้องเป็นผู้ก่อสร้างโครงการรวมถึงเป็นผู้จัดหาขบวนรถ ส่วนอัตราค่าโดยสารก็จะเก็บที่ไม่เกิน 42 บาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งอย่างเต็มที่โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานระบบรถไฟฟ้า และเพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ในวันนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อันจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 
 
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  กล่าวว่า รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรีในสายหลัก ซึ่งเป็นรูปแบบสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ NBM ซึ่งเริ่มดำเนินงานก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ภายในปี 2565 ในขณะเดียวกัน รฟม. ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี พบว่า โครงการฯ ดังกล่าวนั้น เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเดินทางได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง จึงได้เสนอโครงการฯ ตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องจนแล้วเสร็จ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารตามคาดการณ์ 13,785 คน/เที่ยว/วัน 
 
 
“สำหรับการเวนคืนพื้นที่นั้น จะมีตรงบริเวณศรีรัชโดยจะต้องมีการขยายสถานี เพื่อรองรับส่วนต่อขยายที่จะรองรับเข้าเมืองทองธานี ส่วนถึงพื้นที่ใต้ทางด่วนบางส่วนโดยเป็นลักษณะรอนสิทธิ สำหรับวงเงินการเวนคืนจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท ส่วนวงเงินลงทุนของส่วนต่อขยายจะอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท  เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน  งานโยธา จัดหาขบวนรถทั้งหมด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือน ก.ค.หรือส.ค.2564 ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่จะมีส่วนต่อขยายเป็นลักษณะเดียวกับในส่วนของสายสีชมพูนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดยังไม่ได้ข้อยุติ หากเรียบร้อยก็จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมครม.ต่อไป  ”  นายภคพงศ์ กล่าว  
 
 
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทมีความพร้อมที่จะดำเนินการ โดยในสัญญากำหนดว่าจะต้องดำเนินการก่อสร้าง 37 เดือน อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดโครงการส่วนต่อขยายดังกล่าวให้แล้วเสร็จทันเปิดพร้อมส่วนในของเส้นทางสายหลัก เพื่อเป็นการเชื่อมต่อที่สมบูรณ์ สำหรับแนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT–01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT–02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร มีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ