วันเสาร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 02:28 น.

เศรษฐกิจ

มากกว่า ‘ผลิตไฟฟ้า’ คือ เดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

วันศุกร์ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 00.24 น.

มากกว่า ‘ผลิตไฟฟ้า’ คือ เดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

 

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้นอกจากการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แล้ว ประเทศไทยยังต้องรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศต้องหยุดชะงัก

 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลักที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ถือเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงเร่งรัดการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018 Rev.1) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานในประเทศ และนำรายได้หลายหมื่นล้านต่อปีส่งให้รัฐเพื่อเป็นงบประมาณนำไปพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ 

 

 

ดันโรงไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

กฟผ. เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (Hydro Floating Solar Hybrid Project) หรือ โซลาร์ลอยน้ำไฮบริด เป็นมิติใหม่ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผสมผสานระหว่าง ‘พลังงานน้ำ’ และ ‘พลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ’ โดยเริ่มนำร่องแห่งแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และถือเป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศขนาดใหญ่มาก ช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงาน และสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนโรงไฟฟ้าในประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง 

 

ในขณะเดียวกัน กฟผ. ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานี พัฒนาโครงการนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน สร้างเส้นทางเดินธรรมชาติ จุดจำหน่ายสินค้าชุมชน ร้านเช่าจักรยาน ตลอดจนจุดบริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวบริเวณแพเพื่อผลักดันให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

 

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติแห่งใหม่ของ จ. อุบลราชธานี

 

กฟผ. ยังเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงรายภูมิภาคตามแผน PDP2018 Rev.1 ควบคู่กันไป ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน โรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1-2 เพื่อดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดคลี่คลาย

 

ลดการว่างงาน ลุยจ้างงานระยะสั้นเด็กจบใหม่ 

 

ผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้กิจการหลายแห่งต้องปิดตัวลงอย่างกระทันหัน ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมาก กฟผ. จึงเร่งเดินหน้าโครงการจ้างงานระยะสั้นเด็กจบใหม่อีก 2,500 คน ภายใต้ ‘โครงการพลังงานร่วมใจ สร้างงาน พัฒนาชุมชน’ ตามนโยบายภาครัฐ ช่วยเพิ่มอัตราการจ้างในประเทศกว่า  400 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งยังมีการจ้างงานคนในชุมชนรอบเขตเขื่อน โรงไฟฟ้า และพื้นที่ใต้แนวสายส่งด้วยซึ่ง กฟผ.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 6,000 คน

 

สำหรับเด็กจบใหม่ในโครงการดังกล่าวจะทำงานร่วมกับชุมชนในการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนส่งเสริมกิจการชุมชนผ่านนวัตกรรมพลังงานและเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) เพื่อยกระดับเกษตรกรในชุมชน ทำให้สามารถวางแผนการเพาะปลูกล่วงหน้า คาดการณ์ปริมาณน้ำฝน ตลอดจนความต้องการของผลผลิตในท้องตลาด เพื่อสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 

 

ผู้เข้าร่วมโครงการจ้างงานระยะสั้นร่วมกับชุมชนติดอาวุธทางปัญญาด้านพลังงานและเกษตรอัจฉริยะ 

 

เสริมพลังชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

 

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กฟผ. ได้เปิดตลาดนัดสินค้าชุมชนที่ชื่อว่า ‘ตลาดนัดเอนจี้ ของดีทั่วไทย’ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการประชาสัมพันธ์และขายสินค้าชุมชนทั้งในรูปแบบของการเปิดร้านจำหน่ายและช่องทางออนไลน์ในกลุ่มบนเฟซบุ๊ก (Facebook) หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงนำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาจัดเป็นชุดเพื่อนำไปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ก่อให้เกิดรายได้กลับคืนสู่ชุมชนกว่า 15 ล้านบาท

 

 

ชุมชนร่วมออกร้านตลาดนัดเอ็นจี้ของดีทั่วไทย

 

 

ส่งมอบผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่บุคลากรทางการแพทย์

 

เที่ยวช่วยชาติ ฟื้นเศรษฐกิจ


กฟผ. ยังผนึกกำลังกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เข้าร่วมโครงการ ‘Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ’ ซึ่งสนับสนุนให้ทุกองค์กรและประชาชนได้เปลี่ยนสถานที่ทำงานผ่านการจัดประชุมสัมมนาหรือจัดกิจกรรมในสถานที่ท่องเที่ยว โดย กฟผ. เข้าร่วมทั้งในฐานะผู้ประกอบการมอบส่วนลดที่พัก 50% ใน 8 เขื่อนของ กฟผ. และส่งเสริมให้พนักงานร่วมทำงานและท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ จนมียอดใช้จ่ายสูงกว่า 30 ล้านบาท ช่วยส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

 

 

ไม่มีวิกฤตไหนที่คนไทยเอาชนะไม่ได้ และ กฟผ. จะร่วมเคียงข้างคนไทยต่อสู้ในทุกวิกฤต ให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้และกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด