วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:53 น.

เศรษฐกิจ

กฟผ. เสริมพลังไทยสู่ยั่งยืนด้านสภาพอากาศ

วันเสาร์ ที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 17.42 น.
กฟผ. เสริมพลังไทยสู่ยั่งยืนด้านสภาพอากาศ 
 
 
 
กฟผ. แสดงพลังขับเคลื่อนภารกิจสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่เดินหน้าสู่เป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2050 ด้วยกลยุทธ์ Triple S ร่วมสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ
 
 
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเสวนา “เสริมพลังไทยสู่ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ (Powering Thailand for Climate Resilience and Sustainability)” แสดงพลังร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ ภายในงานการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference: TCAC) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ
 
 
 
 
 
นายบุญญนิตย์   เปิดเผยว่า กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาการผลิตและส่งไฟฟ้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อส่งมอบพลังงานที่สะอาด ภายใต้การรักษาความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ดี พร้อมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี ค.ศ. 2065 และเพื่อให้ทุกเป้าหมายสำเร็จได้ด้วยดี ทุกภาคส่วนจะต้องผสานพลังร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อก้าวไปสู่สังคมสังคมคาร์บอนต่ำ อย่างยั่งยืนในอนาคตสำหรับคนไทยทุกคน
 
 
ทั้งนี้ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่ความสมดุลทางคาร์บอน กฟผ. เดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน มุ่งเน้นให้คนในประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึง ควบคู่ไปกับการปรับทิศทางในการดำเนินงานทุกมิติให้สอดรับกับทิศทางพลังงานของไทยและโลก โดยตั้งเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 ด้วยกลยุทธ์ Triple S ประกอบด้วย 
 
       
1.Sources Transformation ปรับเพื่อลด คือ ปรับการผลิตและส่งไฟฟ้าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปรับปรุงโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยเสริมให้มีความยืดหยุ่นรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงใช้ระบบกักเก็บพลังงาน อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) และระบบกักเก็บพลังงานแบบไฮโดรเจน (HESS) 
       
2.Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน โดย กฟผ. ผนึกกำลังพันธมิตรตั้งธงปลูกป่าล้านไร่ ภายใน ค.ศ.2031 และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) มาใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
     
 3.Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งเน้นให้คนไทยมีส่วนร่วมในการลดใช้ไฟฟ้า โดยรณรงค์ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 
 
 
 
 
 
อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร โดย กฟผ. พัฒนา EV BUSINESS Solutions ทั้งในส่วนของสถานีชาร์จ EleX by EGAT แอปพลิเคชัน EleXA เครื่องชาร์จที่ติดตั้งในบริเวณบ้าน EGAT Wallbox และระบบบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้า BackEN รวมถึงการสนับสนุนโครงการห้องเรียนสีเขียว และการสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) การกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและโครงการโคก หนอง นา โมเดล วิถีใหม่