วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 17:22 น.

เศรษฐกิจ

กนอ.-สอท.ยกระดับนิคมฯไทยยุค4.0

วันพฤหัสบดี ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560, 13.48 น.

กนอ.-สอท.ยกระดับนิคมฯไทยยุค4.0

 
 
 
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กนอ.ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2560 “อีโค อินโนเวชั่น ฟอร์รัม 2017 "ECO Innovation Forum ” ภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในยุค 4.0 โดยการจัดงานในปีนี้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในบริบทที่ประเทศไทยได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 สร้างความตระหนัก เพิ่มความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างรอบด้านตลอดจนสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันพัฒนาประเทศให้มีความสมดุลทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 
 
 
 
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กนอ. ได้ดำเนินการสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวการลงทุน ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชนควบคู่ด้วย เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก หรือ Local Economy ให้ประเทศมีเศรษฐกิจที่สมดุลนำไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลต้องการให้ไทยหลุดพ้นจากการมีรายได้ปานกลางในระยะยาวโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการและใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และ คุณภาพชีวิตของชุมชน ตามแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตั้งแต่ระดับโรงงานจนถึงนิคมฯ สร้างความเชื่อมั่นและแสดงศักยภาพในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด “เป็นองค์กรนำสร้างเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสู่เศรษฐกิจอนาคต” ที่เน้นเรื่องของการพัฒนาที่มีดุลยภาพและยั่งยืน ทุกภาคส่วนได้รับการดูแล และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกันอย่างยังยื่น 
 
 
 
สำหรับงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ได้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2560 โดยวันแรกช่วงเช้าของวันนี้ (28 กันยายน 2560) มีพิธีมอบโล่เกียรติยศ และประกาศนียบัตรเกียรติคุณให้กับนิคมฯที่ได้ดำเนินการ ตามเกณฑ์มาตรฐาน 5 มิติ 22 ด้าน ทั้งมิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ หรือระดับ Excellence ได้แก่ นิคมฯ อาร์ไอแอล และระดับ Eco Champion จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย นิคมดำเนินการ โดย กนอ. จำนวน 11 แห่ง ได้แก่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมบางพลี นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร และ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 
 
 
นิคมร่วมดำเนินงาน จำนวน 10 แห่ง ได้แก่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมหนองแค นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย
 
 
นอกจากนั้นยังได้มอบโล่เกียรติยศและประกาศนียบัตรเกียรติคุณให้กับโรงงานที่ได้รับการรับรอง Eco Factory จำนวน 17 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ 11 นิคมฯ ได้แก่ บจก.มิตซูบิชิอิเล็คทริค ออโต (นิคมฯบางชัน) บจก. เวเบอร์ มาร์คกิ้ง ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย)(นิคมสมุทรสาคร) บมจ.ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ (นิคมหนองแค) บจก. ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดักส์ (นิคมบางปะอิน) บจก.แคนนอน ไฮ-เทค (ประเทศไทย) (นิคมฯ บ้านหว้า) บจก.อินเว (ประเทศไทย) (นิคมฯ พิจิตร) บจก.สยามคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรม (นิคมฯ แหลมฉบัง) บจก.ซีพีแรม (โรงงานชลบุรี) (นิคมฯปิ่นทอง) บจก.คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) (นิคมฯ อมตะนคร) บจก. เนสท์เล่ (ไทย) (นิคมฯอมตะซิตี้) บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และบจก. กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ (นิคมฯบางปู) บจก. กรุงเทพ ซินธิติกส์ (นิคมฯมาบตาพุด) บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ โรงงานที่ 1,บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ โรงงานที่ 2 , บจก. โรห์ม แอนด์ ฮาสส์เคมิคอล (ประเทศไทย), บจก. คาร์ไบด์ เคมิคอล (ประเทศไทย)(นิคมเหมราชตะวันออก)
 
 
อีกทั้งมีโรงงานในนิคมฯ ที่ผ่านการตรวจประเมิน Eco-factory และอยู่ในระหว่างขอรับการรับรองภายใน ปีนี้อีก 4 แห่ง ได้แก่ บจก.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (นิคมฯเกตเวย์ชิตี้),บจก.แอลอีดี ไล้ท์ติ้ง (นิคมฯลาดกระบัง),บจก.เอนโก ไทย (นิคมฯบางพลี) และบจก.สยามอุตสาหกรรมยิปซั่ม (สงขลา)(นิคมฯภาคใต้) และ พร้อมด้วยมีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“ยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมกับการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในยุค 4.0 ตามแนวทางประชารัฐ” โดยได้รับเกียรติจากท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สมชาย หาญหิรัญ เป็นผู้กล่าวปาฐกถา ขณะทีในช่วงบ่ายยังมีกิจกรรมการ เสวนาเรื่อง “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 ทำได้ไม่ไกลเกินจริง” และมีการสัมมนา เรื่อง“กฎหมายสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมไทยสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมยั่งยืน”