วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 15:44 น.

การศึกษา

โพลเผยผลสำรวจความนิยมสินค้าเกษตรผ่านแอพฯ

วันพฤหัสบดี ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561, 10.21 น.

โพลเผยผลสำรวจความนิยมสินค้าเกษตรผ่านแอพฯ

 

ธุรกิจบัณฑิตย์โพลเผยผลสำรวจความนิยมบริโภคสินค้าเกษตรผ่านแอพพลิเคชั่น โดยผลสำรวจที่ประชาชนที่ซื้อสินค้าเกษตรในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า สินค้าเกษตรที่ซื้อเพิ่มขึ้น คือ ผลไม้ ร้อยละ 40.80  ผักสด ร้อยละ 31.00 ข้าวสาร ร้อยละ 25.10  ผัก/ผลไม้แปรรูป ร้อยละ 20.20 จากสินค้าเกษตรที่ซื้อหาได้โดยทั่วไปซึ่งเมื่อสินค้าเหล่านี้นำมาขายในแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซด์ นั้นมี ร้อยละ 16.30 เคยซื้อผ่านแอพพลิเคชั่น หรือ เว็บไซด์  และร้อยละ 83.70 ไม่เคยซื้อ แต่ถ้ามีแอพพลิเคชั่น หรือ เว็บไซด์ สินค้าเกษตรที่ซื้อขายโดยตรงกับเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางนั้นทำให้ผู้ซื้อสนใจซื้อผ่านแอพพลิเคชั่น เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 47.60

                

คุณสมบัติของสินค้าเกษตรที่ผู้ซื้อต้องการซื้อผ่านแอพพลิเคชั่นนั้น สินค้าต้องมีคุณภาพดี ร้อยละ 82.10  สินค้าต้องมีราคาที่เหมาะสม ร้อยละ 73.10  สินค้ามีความหลากหลาย ร้อยละ 67.10  มีระบบการชำระเงินที่ปลอดภัย ร้อยละ 63.70  มีสินค้าพร้อมส่งทันที ร้อยละ 61.60  แอพพลิเคชั่น/เว็บไซด์ มีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 56.80  แอพพลิเคชั่น/เว็บไซด์ และมีความพร้อมในการใช้งานสั่งซื้อได้ทุกทีทุกเวลา ร้อยละ 50.40  ซึ่ง Startup สามารถนำไปสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อเป็นช่องทางอีกทางหนึ่งให้เกษตรกรขายสินค้าให้ถึงมือลูกค้าโดยตรงและเกษตรกรสามารถกำหนดราคาสินค้าได้เองส่งผลให้เกษตรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องรอพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวเวลาสินค้าเกษตรตกต่ำ

                

นอกจากนั้นศูนย์บริการวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ทำการพยากรณ์ดัชนีราคาสินค้าเกษตรดาวรุ่งดาวร่วง เพื่อสตาร์ทอัพสามารถนำผลพยากรณ์ไปต่อยอดขายสินค้าเกษตรในแอพพลิเคชั่นได้  โดยต้นปีที่ผ่านมามีสินค้าทางการเกษตรหลากหลายชนิดที่เป็นสินค้าดาวรุ่ง กล่าวคือมียอดจำหน่ายและมีความต้องการทางตลาดสูงมาก ซึ่งจะสวนทางกับสินค้าบางชนิดที่มีราคาตกลงจนเกษตรกรเกิดความเดือดร้อน

 

ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมากระแสทุเรียนเป็นที่ต้องการอย่างมากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่นิยมบริโภคทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยเป็นอย่างมาก   ข้อมูลจากเว็บไซต์ยอดนิยม LINE TODAY หัวข้อ “จีนกำลังเหมาทุเรียนไทย” เผยแพร่ วันที่ 20 พฤษภาคม 2561  ได้รายงานว่า ไทยสามารถขายทุเรียนผ่าน เว็บไซต์ Tmall ของ Alibaba ได้ 80,000 ลูกใน 1 นาที นับเป็นปริมาณการขายอย่างมหาศาล  ประเทศไทยมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดได้ประมาณ 9 เดือนต่อปี เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม  ในไตรมาสที่ 1 ของทุกปีราคาทุเรียนจะสูงขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสที่1 ปี 2561 ทุเรียนมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก ตลาดในประเทศประสบปัญหาทุเรียนขาดตลาดและมีราคาแพง จากข้อมูลดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่าแนวโน้มดัชนีราคาทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562และจากการพยากรณ์คาดว่าดัชนีราคาทุเรียนหมอนทองจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 3-5 ไตรมาสข้างหน้า (ไตรมาสที่ 3    ปี 2561-ไตรมาสที่ 3 ปี 2562)

 

ในส่วนของสับปะรดในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่สับปะรดออกสู่ตลาดปริมาณมากทำให้ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดเกษตรกรเดือดร้อนเป็นอย่างมากจากราคาสับปะรดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามจากผลการพยากรณ์ราคาสับปะรดโรงงานที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา คาดการณ์ว่าในอีก 3-5 ไตรมาสข้างหน้า (ไตรมาสที่ 3 ปี2561-ไตรมาสที่3 ปี 2562) สับปะรดน่าจะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้การช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีการจัดโครงการต่างๆมากมายเช่น มีการรับซื้อผลิตภัณฑ์สับปะรดเพื่อแปรรูปจากภาคเอกชน โครงการระดมพลังไทยช่วยไทย จากสำนักงานสภาเกษตรกร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

 

หน้าแรก » การศึกษา