วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 23:15 น.

การศึกษา

ม.มหาสารคาม พัฒนา Application ตรวจสอบชนิดเห็ด

วันอังคาร ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562, 15.33 น.

ม.มหาสารคาม พัฒนา Application ตรวจสอบชนิดเห็ด  

 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดยคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จัดพิธีลงนามความร่วมมือ "การจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ในประเทศไทยและการพัฒนา Application Mushroom Image Matching" ระหว่าง  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  กับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยมี  ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เป็นประธานกล่าวต้อนรับ  พร้อมลงนามร่วมกับ นายแพทย์โอภาส   การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์  ประมวล  คณบดีคณะวิทยาศาสตร์  รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญเรือน  นาคสุวรรณ์กุล  ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา  นางสาวเกสร  บุญยรักษ์โยธิน  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และ นายแพทย์สมชาย แสงกิจจา  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข เป็นพยานร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ขวัญเรือน  นาคสุวรรณ์กุล  ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า  ปัจจุบันสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเกิดจากชาวบ้านมักเข้าไปเก็บเห็ดมาบริโภค  โดยมีความเข้าใจและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง  ในการระบุชนิดของเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้  นอกจากนี้  ช่วงเวลาในการเก็บเห็ดโดยเฉพาะในช่วงเช้ามืด  มีแสงสว่างค่อนข้างน้อยอาจจะทำให้มีการเก็บเห็ดพิษที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดรับประทานได้ปะปนมาด้วย จากรายงานข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา   กรมควบคุมโรค  พบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดพิษ ปีละมากกว่า 1,000 คน  เสียชีวิตปีละ 5-10 ราย  พื้นที่ที่พบรายงานการเกิดสถานการณ์ที่มีอัตราการเจ็บป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน ซึ่งเห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ (เห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดไข่ตายซาก) ซึ่งเห็ดชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่สามารถรับประทานได้และเห็ดหมวกจีนที่มีลักษณะคล้ายกับเห็ดปลวกหรือเห็ดโคน

 

ในการจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้  ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีหน้าที่ให้การสนับสนุนบุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถในการทำงานวิจัยด้านเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้อย่างต่อเนื่อง  รวมถึงให้การสนับสนุนภาพถ่ายเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้จากฐานข้อมูลในพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงในการตรวจสอบลักษณะของเห็ดในโปรแกรม Application Mushroom Image Matching   อีกทั้งประเมินประสิทธิภาพ Application Mushroom Image Matching กับนิสิตหลักสูตรปริญญาตรี-เอกในรายวิชาเกี่ยวกับเห็ดเพื่อตรวจสอบชนิดของเห็ดในภาคสนาม

 

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์  กล่าวว่า  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  มีนโยบายในการให้ข้อมูลและเฝ้าระวังให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการรับประทานเห็ดจากป่าธรรมชาติ  เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วยและตายจากการได้รับสารพิษจากเห็ด โดยการจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสายพันธุ์อ้างอิงในประเทศ รวมทั้งพัฒนา Application Mushroom Image Matching  เพื่อตรวจสอบชนิดของเห็ดได้อย่างรวดเร็วจากโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน  แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาApplication จำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายลักษณะที่สำคัญต่างๆ ของเห็ดจำนวนมากเพื่อใช้ในการประมวลผลที่ถูกต้องและแม่นยำ   กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  จึงได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีหน่วยงานพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและภาพถ่ายของเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ที่สำรวจพบในประเทศไทยเข้าร่วมดำเนินงานในโครงการ

 

โดยการลงนามร่วมกันในครั้งนี้  ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมกัน  จัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้เป็นแหล่งอ้างอิงสายพันธุ์ในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ด้านงานวิจัย บริการวิชาการและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศโดยการพัฒนา Application Mushroom Image Matching สำหรับบริการวิชาการและการเรียนการสอน  อีกทั้งจัดทำคู่มือเห็ดพิษสำหรับ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการเฝ้าระวังการรับประทานเห็ดพิษของประชาชนร่วมกัน  ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวคาดว่าจะสำเร็จพร้อมทดลองใช้งานได้ในเดือน สิงหาคม 2562

หน้าแรก » การศึกษา