วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 18:36 น.

การศึกษา

เวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล เตือน 7 กลุ่มเสี่ยงภัยไข้หวัดใหญ่

วันศุกร์ ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562, 09.52 น.

เวชศาสตร์เขตร้อน มหิดล เตือน 7 กลุ่มเสี่ยงภัยไข้หวัดใหญ่

 

ปัจจุบัน ไข้หวัดใหญ่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทยอันดับต้นๆ และส่งผลกระทบถึงความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็ยังขาดการรับรู้ ขาดความเข้าใจในเชิงดูแลป้องกัน และยังไม่ตระหนักถึงมหันตภัยไข้หวัดใหญ่อาจจะทำให้สูญเสียชีวิตได้ เนื่องด้วยสถิติของผู้เข้ามารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอยู่มาก หรือเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีประชากรใน 7 กลุ่มเสี่ยง อยู่ประมาณ 20 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 5 ของประชากรไทยทั้งหมด ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป  2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี  3) ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง      ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป  5) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  6) โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ และ 7) โรคอ้วน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งหากกลุ่มเสี่ยงนี้เกิดมีภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้มีโอกาสเสียชีวิตในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มคนปกติมากที่สุดถึง 100 เท่า

รศ. นพ. ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “ปัจจุบันมิติของโรคเปลี่ยนไป เนื่องด้วยมนุษย์สามารถเดินทางรอบโลก หรือเดินทางไปในที่ใดที่หนึ่งของโลกได้ภายในไม่เกิน 36-48 ชั่วโมง การเดินทางที่รวดเร็วนี้ทำให้ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การระบาดของโรค SARS ที่เกิดขึ้นในปี 2546 หรือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1 2009) ซึ่งมีการระบาดไปทั่วโลกในเวลาเพียง 1 เดือน ไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่มีอัตรากลายพันธุ์สูงเพราะการกลายพันธุ์เป็นขบวนการเพื่อความอยู่รอดของตัวเชื้อโรค เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำลายจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ฉะนั้นในแต่ละปี ไวรัสไข้หวัดใหญ่มักปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้สามารถก่อโรคในคนได้ทุกปี นั่นเป็นสาเหตุต้องมีการพัฒนาวัคซีนที่ไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีให้ได้มากที่สุดนั่นเอง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่มาก ที่ต้องศึกษาค้นคว้าและวิจัยอยู่ตลอดเวลาเพื่อพยายามควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาดต่างๆ รวมถึงเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่”

ศ. เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่าไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมี 3 ชนิด คือ A, B และ C  ไวรัสชนิด A เป็นชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยในเอเชียตะวันออก มีรายงานถึงการแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza A (H3N2) เป็นไวรัสที่พบมากกว่าไวรัสอื่นๆ ส่วนไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด

สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ กรมควบคุมโรค ในปี 2561 รายงานพบผู้ป่วย 185,829 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 284.03 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 32 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจเมื่อจำแนกตามอายุ อัตราป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่สูงสุดอยู่ในวัย 0-4 ปี มีอัตราป่วยคือ 1,156.55 ต่อประชากรแสนคน และอัตราป่วยในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปคือ 125.05 ต่อประชากรแสนคน ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์  A (H1N1), A (H3N2) และสายพันธุ์ B  โดยอาการไข้หวัดใหญ่ จะเริ่มหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้แบบทันทีทันใด (38 องศาเซลเซียสในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กมักจะมีไข้สูงกว่านี้) ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ (post viral bronchitis) อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา (common cold) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดบวม ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและการแพร่ระบาดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ถึงจะไม่สามารถมีผลป้องกันได้ทั้งหมด แต่หากได้รับวัคซีน อาการก็จะไม่รุนแรงและยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อีกด้วย

รศ. พญ. อรินทยา พรหมินธิกุล แพทย์เฉพาะทาง อายุรแพทย์โรคหัวใจ และ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  เปิดเผยข้อสรุปของผลวิจัย “Influenza Vaccination reduces cardiovascular events in patients with acute coronary syndrome” ถึงประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในการป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้ และการฉีดวัคซีนหนึ่งเข็มมีความคุ้มค่าสูง และเป็นเครื่องมือในการลดอัตราการเสียชีวิตที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย การศึกษา cost-effectiveness ในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา พบว่า มีความคุ้มค่าและเป็น         cost-saving intervention ดังนั้น คำแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจของประเทศไทย จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ปีละ 1 ครั้ง ทุกๆ ปี ด้วยประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้จะป้องกันการเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่จะป้องกันการป่วยหนัก ป้องกันการนอนโรงพยาบาล ลดอัตราป่วยด้วยการหายใจล้มเหลว และส่งผลทางอ้อมต่อการลดปอดอักเสบได้

 

หน้าแรก » การศึกษา