วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 06:50 น.

การศึกษา

AI บุก! ชาวพุทธตื่นรู้ ตั้งวงถกที่ภูฏานปรับตัว

วันอาทิตย์ ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2562, 19.01 น.

'พระ มจร' ประกาศก้องบนเวทีวัชรยานโลกที่ภูฏาน  ไม่มีผู้ใดอยู่ได้เพียงลำพัง ทุกนิกายผนึกกำลังตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัลโดยเฉพาะเอไอ  


เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ภูฏานศึกษา เมืองพิมพู ประเทศภูฏาน ภายหลังที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งประเทศภูฏาน ได้เสด็จพระราชดำเนินพบปะและแลกเปลี่ยนมุมมองในพิธีเลี้ยงอาหารว่างกับเหล่านักวิชาการเป็นการส่วนพระองค์แล้ว หลังจากนั้นจึงเข้าสู่บรรยากาศการประชุมพระุพุทธศานาวัชรยานโลก ในหัวข้อเทคนิคการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดตามแนวทางของวัชรยาน มีประเด็นที่น่าสนใจที่พระพุทธศาสนาจะต้องปรับตัวภายใต้โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน  ซึ่งมีการนำเสนอเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ  AI ด้วย  โดยมีนักวิชาการจากโลกตะวันตก ตะวันออก และภูฏาน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในมุมมองที่หลากหลาย  

ในการนี้พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการประชุมครั้งนี้ด้วย โดยได้นำเสนอภายใต้หัวข้อ "Vajrayana Buddhism in Digital Era: How to Build Platform and Work Together" หรือ "พระพุทธศาสนานิกายมหายาน: เราจะสร้างเวที และทำงานร่วมกันอย่างไร" วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้นิกายหลักทั้งสามคือ วัชรยาน มหายาน และเถรวาท มาร่วมมือกันตอบโจทย์สังคมโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ต่างๆ และเฝ้ารอคำตอบจากพระพุทธศาสนาในภาพรวม

พระมหาหรรษา ได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือ ใน 5 สาระสำคัญหลัก ภายใต้เวทีโลกที่ได้ออกแบบเพื่อรองรับการทำงานร่วมกัน ทั้งเวทีสมาคมวิสาขบูชาโลก สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ที่มีพระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต  กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 2 เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ประธานสมาคมวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ ประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ไทย เป็นประธาน รวมถึงเวทีวัชรยานโลกที่จัดขึ้นในภูฏาน และเวทีอื่นๆ  โดยข้อเสนอใน 5 สาระสำคัญหลักประกอบด้วย

(1) สติดิจิทัลรักษาและพัฒนาโลกดิจิทัล 
      
โลกกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้ง สงคราม ความรุนแรง การสถาปนาและยึดมั่นในความคิดและการกระทำของตนเองอย่างสุดโต่ง ผู้นำที่ขาดธรรมาภิบาล สภาวะโลกร้อน  การศึกษาและการพัฒนาขาดมิติที่ลุ่มลึก และสังคมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีจนขาดมิติแห่งความเมตตากรุณา การหันกลับมาสร้างนวัตกรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาว่าด้วย "สติ"  เป็นต้น ที่สามารถตอบโจทย์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม นักวิชาการจึงไม่ได้มีหน้าที่เพื่อศึกษา แต่ต้องพัฒนาตนเองให้เข้าถึงความจริงในระดับหนึ่ง แล้วนำความจริงที่ได้พิสูจน์ออกมาสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือโลกใบนี้ให้เกิดความสมดุลและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

(2) การเรียนรู้พระพุทธแบบดิจิทัล 
      
การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันไม่มีความจำเป็นต้องเรียนในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ในห้องอีกต่อไป  สถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งสามนิกาย สามารถสร้างห้องเรียนออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนกับอาจารย์ดังๆ ที่มีความรู้ และเป็นนักปฏิบัติได้ ในเบื้องต้นคือการหาเครือข่ายและสร้างพื้นที่ขึ้นมาเพื่อรองรับการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาจุฬาฯ กำลังพัฒนาห้องเรียนออนไลน์เพื่อรองรับการเรียนของนิสิตกับสถาบันต่างประเทศ ทั้งในเอเซีย ยุโรป และอเมริกา

(3) คัมภีร์พระพุทธศาสนาแบบดิจิทัล

เพื่อสนองตอบแนวทางในการยกระดับคัมภีร์สำคัญของนิกายต่างๆ ขึ้นสู่ฐานข้อมูลกลางในโลกดิจิทัล เพื่อให้ผู้เรียนจากทั่วโลกสามารถค้นหาและเข้าถึงได้จากโลกอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกับ Google ตามที่พระเดชพระคุณพระพรหมบัณฑิต ประธานสมาคมวิสาขบูชาโลกมุ่งหวัง การจัดทำสหบรรณานุกรมพระไตรปิฏกสากล หรือ Union Catalogue of Buddhist Text จะได้รับการสานต่อและพัฒนาขึ้น ดังนั้น ทั้งสามนิกายจึงจำเป็นต้อง

(4) เรียนปริญญาสองใบในยุคดิจิทัล
       
การจัดการศึกษาในยุคปัจจุบันคือการผสานกำลังโดยการนำจุดเด่น หรือจุดแข็งของแต่ละแห่งมาเติมเต็มกันและกัน โลกแห่งการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งสามนิกายก็เช่นเดียวกัน ทำอย่างไรที่สถาบันการศึกษาจะจับมือกันพัฒนาหลักสูตรปริญญาสองใบระหว่างนิกาย อาจจะเป็นเถรวาทกับวัชรยาน มหายานกับเถรวาท หรือวัชรยานกับมหายาน การดำเนินการในลักษณะนี้ จะเป็นการเปิดโลกการศึกษาข้ามนิกาย เพื่อให้เกิดการศึกษา แลกเปลี่ยน และสอบทานระหว่างกันและกันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทั้งปริยัติและการปฏิบัติ

(5) ร่วมมือสร้างสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา
       
ในโลกของการพัฒนาสถาบันด้านการศึกษานั้น หนึ่งในเครื่องมือที่จะกระตุ้นให้สถาบันต่างๆ พัฒนาศักยภาพของตนเองให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ คือ การสร้างตัวชี้วัดกลางขึ้นมา เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาสถาบันการศึกษา ประเด็นนี้ มหาวิทยาลัยทางโลกนั้น ได้มีสถาบัน Times และ QS  เป็นต้น ทำหน้าที่จัดอันดับ และภายใต้กรอบคิดนั้น เป็นไปไม่ได้ที่มหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนาจะเข้าไปติดอันดับ อย่าว่าแต่อันดับ 1 ใน 100 เลย แม้ 1 ใน 5000 ก็ไม่มีวันที่จะติดอันดับได้ ด้วยเหตุนี้ สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ จะทำหน้าที่ในการสร้างสถาบันการจัดอันดับที่เน้นธรรมชาติของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา จะนำไปสู่การพัฒนาสถาบันการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาให้ได้มาตรฐาน และตอบโจทย์ของสังคมโลกมากยิ่งขึ้น

ในโลกที่กำลังฉาบทาด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน มนุษยชาติจำนวนมากต่างแก่งแย่ง ทำร้าย เบียดเบียน หมกหมุ่นกับการออกแบบนวัตกรรม เพื่อฉาบทาให้เกิดความสะดวกทางกาย ในขณะที่ใจเฝ้าโหยหาความสุข  นิกายต่างๆ มีหน้าที่สำคัญในการออกแบบชุดความคิดดั้งเดิมเพื่อให้สอดรับกับกระแสของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป เราไม่มีเวลาที่จะคอยโพนทนาว่า นิกายใดดีที่สุด และถูกต้องที่สุด ในขณะที่หมู่ชนกำลังเฝ้ารอยาเพื่อนำไปรักษา และเติมเต็มความหวังและกำลังใจในโลกยุคดิจิทัล การผนึกกำลังกันตอบโจทย์จะเป็นอีกหนึ่งคำตอบว่า เพราะเหตุใด? พระพุทธศาสนาจึงควรค่าต่อการเรียกขานว่า เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาของโลก หรือ Wisdom for the World จำเป็นต้องสร้างความร่วมมืทำงานด้วยกันต่อไป

หน้าแรก » การศึกษา