วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 00:50 น.

การศึกษา

อาจารย์มหิดล วิจัยคัดกรองเซลล์มะเร็ง ด้วยอนุภาคนาโนทองและแม่เหล็ก

วันศุกร์ ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 10.10 น.

อาจารย์มหิดล วิจัยคัดกรองเซลล์มะเร็ง ด้วยอนุภาคนาโนทองและแม่เหล็ก

 

รศ.ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ ห้องปฏิบัติการนาโนไบโอเทคโนโลยีชีวภาพและชีววัสดุนาโน (N-BMR) กลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเคมี เมื่อเร็วๆ นี้ จากโครงการวิจัย เรื่อง “การตรวจหาเซลล์มะเร็งที่กระจายตัวในกระแสเลือดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ระยะแพร่กระจาย ด้วยอนุภาคนาโนของทอง และอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็ก” กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย และส่งผลให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นในผู้หญิง ซึ่งโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายเป็นโรคที่มีความซับซ้อน และก่อให้เกิดปัญหากับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้น การมีกระบวนการตรวจหาเซลล์มะเร็งก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นระยะแพร่กระจายจะช่วยลดปัญหาให้กับผู้ป่วยได้ โดยเทคนิคที่ผู้วิจัยได้คิดค้นขึ้นใหม่ คือ การนำอนุภาคนาโนทองและแม่เหล็กมาใช้การตรวจหาเซลล์มะเร็งเต้านมที่กระจายตัวในกระแสเลือด โดยเริ่มจากการนำตัวอย่างเลือดที่มีทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์เม็ดเลือดแดงปนอยู่ มาแยกเม็ดเลือดแดงออกไป หลังจากนั้นแยกเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ปะปนกับเซลล์มะเร็งเต้านมออกไป โดยใช้อนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็ก ซึ่งอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็กถูกออกแบบให้มีแอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับเซลล์เม็ดเลือดขาวเกาะติดอยู่ ทำให้แยกเม็ดเลือดขาวออกมาได้

 

ขั้นตอนต่อไป ผู้วิจัยจะใช้อนุภาคนาโนของทองที่ถูกออกแบบให้มีแอนติบอดีที่มีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็งเต้านมติดอยู่ใส่เข้าไป เพื่อทำหน้าที่ตรวจจับตัวเซลล์มะเร็งที่กระจายอยู่ในกระแสเลือดได้แม่นยำขึ้น แล้วนำมาแยกหาจำนวนของเซลล์มะเร็ง ซึ่งขณะนี้ยังเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ต่อไปจะใช้ตัวอย่างเลือดจริงของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจริง โดยจะร่วมมือกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ หากได้ผลตามที่คาดไว้ ผู้วิจัยจะขอจดสิทธิบัตร และพัฒนาเป็นชุด Test Kit ตรวจวัดตัวเซลล์มะเร็งที่กระจายอยู่ในกระแสเลือดสำหรับใช้ตามโรงพยาบาลต่อไป

 

“โครงการวิจัยตรวจหาเซลล์มะเร็งฯ ได้รับทุนสนับสนุนมาจาก 2 แหล่งทุนวิจัยหลัก ได้แก่ ศูนย์ CEMB หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวการแพทย์ (Center of Excellence in Medical Biotechnology) และทุนโทเร ซึ่งในการพัฒนา Test Kit เป็นเรื่องของอนาคต โดยส่วนตัวกับบทบาทในทางวิชาการแล้ว สนใจที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ (Technology Transfer) ไปให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินการ และหวังว่าเทคโนโลยีนี้ จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตทางด้านสุขภาพของคนในประเทศเราดีขึ้น” รศ.ดร.ดาครอง พิศสุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

หน้าแรก » การศึกษา