วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 00:07 น.

การศึกษา

โชค บูลกุล เสวนาสร้างแรงบันดาลใจ Mahidol 17 SDGs Talk

วันพุธ ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 10.10 น.

โชค บูลกุล เสวนาสร้างแรงบันดาลใจ  Mahidol 17 SDGs Talk

 

มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2558 - 2562 โดยมีนโยบายส่งเสริมการสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco-University)ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals-SDGs)

 

โดยเมื่อเร็วๆ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้มีการจัดกิจกรรมเสวนา "Mahidol 17 SDGs Talk" ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา บุคลากร ตลอดจนบุคคลภายนอก ได้รับมีความรู้ความเข้าใจเพื่อการพัฒนาสู่เป้าหมาย 17 SDG Goals เป็นครั้งแรก ได้รับเกียรติจาก ดร.โชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย ผู้นำพาฟาร์มโชคชัยจากวิกฤตสู่ต้นแบบธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนทีม 129 Sustainability จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากงาน "Innovation for Campus Sustainability 2019" ที่ได้สร้างสรรค์ผลงาน “Welunteering” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันหาอาสาสมัครทำกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย โดยการประชาสัมพันธ์หาจิตอาสาผ่านสมาร์ทโฟน ลดการใช้ทรัพยากร และพลังงานจากป้ายประกาศทั่วไป และช่วยส่งเสริมจิตอาสาในหมู่นักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย และทีม “Binbin” (Developed by Mang) จาก คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที Asian Conference on Campus Sustainability (ACCS) ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จากผลงานการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วย "ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล" (MU Smart Bin) และ "แอปพลิเคชันเพื่อรับแต้ม" (MU Recycle Application)

 

รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มูน เคยกล่าวไว้ “เราไม่มีแผนสำรอง เพราะเราไม่มีโลกใบที่สอง” เป็นแนวคิดที่ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าโลกใบนี้อีกแล้วนั้น ได้นำไปสู่การพัฒนาเป้าหมายร่วมกันของโลก (Global Goals) ซึ่งจากเมื่อปี 2015สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่มีตัวแทนจาก 193 ประเทศได้ให้การรับรองรายงานสำคัญ “Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development” ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ไว้ 17 เป้าหมายใหญ่ ตั้งแต่ประเด็น ความยากจน (SDG1) ความหิวโหย (SDG2) สุขภาวะ (SDG3) การศึกษา (SDG4) ความเท่าเทียมทางเพศ (SDG5) น้ำสะอาด (SDG6) พลังงานหมุนเวียน (SDG7) การงานและเศรษฐกิจที่เหมาะสม (SDG8) นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (SDG9) การลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) ไปจนถึงเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG11) การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (SDG12) การแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ (SDG13) การอนุรักษ์ป่าไม้ (SDG14) การคุ้มครองท้องทะเล (SDG15) สันติภาพ (SDG16) และความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (SDG17) โดยมีเป้าหมายรองที่เกี่ยวข้องอีกทั้งหมด 169 หัวข้อนั้น เป้าหมายของเราไม่ใช่สอนให้นักศึกษาท่องจำว่า 17 SDG Goals คืออะไร แต่เรามุ่งสร้างแรงจูงใจให้เริ่มคิด แล้วเอามาปรับใช้กับพฤติกรรมตัวเอง เพื่อเปลี่ยนสังคมและโลกที่เราอยู่ให้ดีขึ้นต่อไป

               

 “ผมไม่ได้มองว่าเรื่อง 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะทำให้เกิดการแข่งขันในการจัดอันดับโดยเอาตัวชี้วัดเป็น 169 เป้าวัตถุประสงค์ แล้วบอกว่ามหาวิทยาลัยนั้นเก่งกว่ามหาวิทยาลัยนี้ แต่เรื่องที่สำคัญ คือ เราต้องกลับมามองว่า ทำอย่างไรผู้บริหารมหาวิทยาลัยถึงจะขับเคลื่อนนโยบายที่สามารถใส่วัตถุประสงค์เหล่านี้เข้าไปฝังชิปในสมองของเด็กรุ่นใหม่ให้ได้”รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต กล่าว

                

ด้าน ดร.โชค บูลกุล กล่าวว่า “ค่านิยมที่ถูกสร้างจากกลไกของการตลาดทำให้คนรุ่นใหม่สับสนกับเป้าหมายของชีวิต เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า อะไรคือทักษะของเราจริงๆ โดยการทำมาจากความเข้าใจ ทำมาจากความรัก ตื่นมาทุกเช้าอะไรที่เราทำแล้วเรามีความสุข ไม่ใช่เอาบรรทัดฐานของคนอื่นมาเป็นตัวกำหนด จะทำให้เรามองเห็นช่องทางสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ซึ่งเราต้องทำโดยเข้าใจศักยภาพของเราจริงๆ เราจึงได้พยายามจะสร้างโมเดลของเราขึ้นมา ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เป็นโมเดลที่ใหญ่มาก แต่ทำให้ทุกคนต้องจดจำฟาร์มโชคชัย”

 

“สังคมวันนี้ถูกครอบงำจากคนเพียงไม่กี่กลุ่ม พวกเขาพยายามครอบงำเพื่อสร้างกลไกบางอย่างเพื่อนำเราเข้าสู่การเป็น “สาวก” เพื่อง่ายต่อการ Manipulate ให้เราจงรักภักดีต่อเป้าหมายของเขาไปให้นานที่สุด กลุ่มที่ 1 คือ พวก Marketing Driven กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายบริโภคตามกระแสที่เกินความจำเป็น และ กลุ่มที่ 2 คือ พวก Technology Driven ที่มาในการสร้างPlatform บางอย่าง เช่น Android หรือ iOS เพื่อให้เราเข้าไปอยู่ใน Ecosystem เพื่อที่จะได้สังเกตพฤติกรรมของเรา และยัดเยียด อนาคตที่พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดให้กับเราอย่างจำยอม”

 

“Sustainability คือ การที่สังคมมนุษย์โลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ทั้งหลาย ควรจะอยู่กันได้อย่างเคารพซึ่งกันและกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันเป็นหลักสำคัญ แต่ปัญหาของโลกในทุกวันนี้ คือการมีช่องว่างที่ทำให้กลุ่มคนที่ได้เปรียบรวยมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มคนที่เสียเปรียบมีแต่จนลง เราจึงควรต้องรู้เท่าทันกระแสของโลก เพื่อที่จะได้ปรับตัวให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ากับโลก ไม่ใช่จะมาเอาเปรียบโลก เพราะตอนนี้โลกอยู่ในสถานการณ์ที่จะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้” ดร.โชค บูลกุล กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้าแรก » การศึกษา