วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 12:46 น.

การศึกษา

'คุณหญิงกัลยา'ยันลั่น ป.1-3 เริ่มเรียน'โค้ดดิ้ง'พ.ย.นี้

วันพุธ ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562, 17.14 น.

วันที่ 21ส.ค.2562 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมเครือข่ายผู้บริหารการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ว่า สมาคมเครือข่ายผู้บริหารฯ ได้เข้าพบคนเพื่อต้องการเดินหน้าการจัดการเรียนการสอน Coding ซึ่งโรงเรียนแต่ละแห่งได้นำเสนอการจัดการเรียนการสอนโค้ดดิ้งที่ดีมาก และสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้โรงเรียนที่อื่นๆได้เป็นอย่างดี ดังนั้น 

ตนจึงมอบนโยบายไปว่าการเรียนการสอน Coding จะต้องสร้างบรรยากาศให้โรงเรียนได้ไปปรับใช้ให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ และทำให้เด็กคิดอย่างเป็นระบบ ตลอดจนแก้ปัญหาเป็นตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัยไปจนถึงมัธยมศึกษา เพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และเป็น Coding ที่คนไทยทุกคนเรียนได้ ทั้งยังถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ถึงตัวเด็กเป็นครั้งแรก รวมถึงการเรียนการสอน Coding ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะทำในปีแรก คือเรื่องการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 โดยกระทรวงศึกษาธิการจะสอนเรื่อง Coding ให้กับเด็กไทย ตั้งแต่ป.1-3 ในเดือนพฤศจิกายนของภาคเรียนที่ 2/2562 นี้
          
“ทั้งนี้ที่ผ่านมาเรามีตำรามีหลักสูตรที่เกี่ยวกับการสอน Coding อยู่แล้ว แต่ครูที่มีอยู่ยังสอนไม่ได้ หรือไม่มีประสิทธิภาพในการสอน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดตัวการเรียน Coding โดยมีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง มาอธิบายให้สังคมทราบ และยังได้เปิดรับสมัครโรงเรียนที่ผู้อำนวยการและครูอยากจะสอน Coding มาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งภายในเดือนตุลาคมนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) จะอบรมแกนนำครูโรงเรียนที่สมัครใจ 1,000 คน เพื่อไปสอนนักเรียนชั้น ป.1- ป.3 และหากโรงเรียนทั้ง 30,000 แห่งทั่วประเทศต้องการสอน Coding ก็จะส่งครูเหล่านี้ไปเป็นพี่เลี้ยง อย่างไรก็ตามสมาคมฯ ยินดีที่จะสนับสนุนนโยบายนี้และพร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อนไปพร้อมกับ ศธ.ด้วย”รมช.ศธ.กล่าว 

‘ศธ.’ จับมือ ‘บ.ไอบีเอ็ม’ ร่วมพัฒนาต่อยอดทักษะทางวิชาชีพให้กับผู้เรียน 

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการ ของภาคอุตสาหกรรม ระหว่าง ศธ.กับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย โดยมีนางพรรณสิรี อมาตยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าคอมเมอเชียล ไอบีเอ็ม ภูมิภาคอาเซียน, ผู้บริหารศธ. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้า

นายณัฏฐพล กล่าวว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังได้รับการพัฒนา อย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกด้าน ศธ. ในฐานะภาคการศึกษาที่มีหน้าที่หลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของ การผลิตบุคลากรให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ความร่วมมือกับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเชื่อมโยงภาคการผลิต กำลังคน (Supply) กับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ (Demand) นอกจากนี้ ศธ. มีนโยบาย ชัดเจนเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนที่จบการศึกษาแล้ว ด้วยการเพิ่มทักษะการทำงาน (Upskill) รวมถึง การ Reskill เพื่อให้คนที่เข้าสู่ระบบการทำงานแล้วมีความสามารถที่สอดรับกับความต้องการของ ตลาดแรงงานเช่นกัน

“การร่วมมือในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะแก้ปัญหาการผลิตบุคลากรที่ยังไม่สอดคล้องกับ ความต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่กระทรวงศึกษาธิการให้ ความสำคัญ โดย ศธ. ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับประเทศ จึงคาดหวังว่าโครงการ P-TECH จะเป็นประโยชน์และช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและ ประสิทธิภาพให้กับประเทศไทยต่อไป” นายณัฏฐพล กล่าว
          
ด้านนางพรรณสิรี กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ได้เสนอโครงการ P-TECH (Pathways in Technology Early College) ซึ่งจะเน้นการศึกษาในสายอาชีวศึกษา โดยใช้เวลาเรียน 5 ปี และนักศึกษาที่ จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงตามสาขาที่เรียน โดยเป็นโครงการที่ช่วยสร้างและพัฒนากำลังคนให้ มีทักษะด้าน IT และ STEM Education เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการและสอดคล้องกับความ ต้องการกำลังคนของตลาดแรงงาน ซึ่ง P-TECH ได้รับการยอมรับจากสถานศึกษา 110 แห่งทั่วโลก อีกทั้งยังจะมีองค์กรภาคธุรกิจมากกว่า 600 แห่ง เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้รับ การแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญด้าน IT และด้านธุรกิจภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการ จัดการเรียนการสอนที่สามารถจับคู่ทักษะ (Skill Mapping) ของผู้เรียนให้เข้ากับทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

หน้าแรก » การศึกษา