วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 02:45 น.

การศึกษา

มมส ส่งข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

วันอังคาร ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2562, 07.28 น.

มมส ส่งข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

 

ดร.อัศวิน  อมรสิน  อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์  คณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ปิ๊งไอเดีย  ข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์  เก็บได้นาน 2 ปี  ส่ง “กล่องข้าวน้อยให้แม่”  2,000 ห่อ พร้อมชุดเวชภัณฑ์จำเป็น “กล่องยาน้อยให้แม่” ออกเดินทางส่งถือมือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดอุบลราชธานี เรียบร้อย

 

ดร.อัศวิน  อมรสิน  อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนศาสตร์  พร้อมด้วย  รศ ดร.อนุชิตา  มุ่งงาม  คณบดีคณะเทคโนโลยี   นำคณะอาจารย์  นิสิตจิตอาสาจากคณะเทคโนโลยี  ร่วมลงมือในกระบวนการผลิตข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์  ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่ นึ่งข้าวเหนียว  ย่างหมู  หั่นหมูเป็นชิ้นๆ  ชั่ง ตวงปริมาณ บรรจุลงในถุงบรรจุภัณฑ์  ซีลปิดปากถุง  เข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์  และติดสติ๊กเตอร์เป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งถึงมือผู้รับ

 

ดร.อัศวิน  อมรสิน  กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ “กล่องข้าวน้อยให้แม่” หรือข้าวเหนียวหมูย่างสเตอริไลซ์ มาจากติดตามข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่  โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีที่ค่อนข้างหนัก  และยาวนาน จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถที่มีในเรื่องของการถนอมอาหารและบรรจุภัณฑ์มาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ และเกิดไอเดีย  ทำข้าวเหนียวหมูย่าง  สเตอริไลซ์ ที่เก็บไว้ได้นาน 2 ปีนี้ขึ้นมา  และตั้งชื่อว่า “กล่องข้าวน้อยให้แม่”  โดยมีแรงบันดาลใจมาจากนิทานท้องถิ่นเรื่อง  "ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่"  จังหวัดยโสธร ที่ลูกหิวโมโหเพราะเห็นก่องข้าวน้อยของแม่ เป็นแค่ก่องข้าวเล็กๆ  คิดว่าตัวเองจะกินไม่อิ่มแน่ๆ  แล้วลูกก็ฆ่าแม่  สุดท้ายแล้วก็กินไม่หมด

 

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก  เตรียมวัสดุ อุปกรณ์  เปิดรับเงินบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบ   เช่น หมู ข้าวเหนียว  เครื่องปรุงหมักหมู บรรจุภัณฑ์สำหรับห่อ จากนั้นเข้ามาสู่กระบวนการผลิตโดยข้าวเหนียวหมูย่างห่อนี้  ประกอบไปด้วย ข้าวเหนียวนึ่ง 120 กรัม  และหมูย่าง 50 กรัม  ซีลบรรจุในถุงบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก  จากนั้น นำไปเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ สเตอริไลซ์   ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง

 

ทั้งนี้  ได้ตั้งเป้าจะผลิตให้ได้  10,000 ชุด แต่เนื่องจากกำลังการผลิตทั้งแรงคน และ เครื่องมืออุปกรณ์ของเราไม่เพียงพอ  สามารถผลิตได้เพียง 2,000 ชุด  ซึ่งได้เดินทางนำส่งผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2562  ที่จังหวัดอุบลราชธานี  และเงินบริจาคที่เหลือ ได้จัดเป็นชุดยา“กล่องยาน้อยให้แม่” 1,000 ชุด   ส่งไปพร้อมกับชุดข้าวเหนียวหมูย่างด้วย

 

นายณภัทร  หมดราคี  นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาการ  คณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า  “วันนี้ได้มีส่วนร่วมในการมาบรรจุข้าวเหนียวหมูย่าง กับเพื่อนๆ  และคณาจารย์ที่คณะ  รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหาย และความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้  และอยากส่งกำลังใจผ่านไปกับห่อข้าวน้อยๆ  ที่เราบรรจงย่างด้วยมือ  บรรจุด้วยใจ  ให้ผู้ประสบภัยผ่านพ้นวิกฤตภัยธรรมชาตินี้ไปในเร็ววัน”

 

“กล่องข้าวน้อยให้แม่”  ไม่เพียงแต่จะอิ่มท้อง  อิ่มใจผู้ให้ สุขใจผู้รับแล้ว  ความดีงามของข้าวเหนียวหมูย่างชุดนี้  ยังสามารถเก็บได้นานถึง 2 ปี  โดยไม่ต้องแช่เย็น โดยผู้ประสบภัยสามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น แต่ธรรมชาติข้าวเหนียวอาจจะแข็งกว่าปกติ   หากต้องการให้รสชาติ นุ่ม อร่อย  ให้นำไปต้ม 3-5 นาที หรืออุ่นในไมโครเวฟ 1-2 นาที โดยไม่ต้องนำออกจากถุง เพราะถุงที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทนความร้อนได้

หน้าแรก » การศึกษา