วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 04:25 น.

การศึกษา

ม.มหาสารคาม จัดเซทผักพร้อมปลูก ส่งถึงมือผู้ประสบอุทกภัย

วันอาทิตย์ ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562, 08.44 น.

ม.มหาสารคาม  จัดเซทผักพร้อมปลูก ส่งถึงมือผู้ประสบอุทกภัย  

 

คณะเทคโนโลยี  ม.มหาสารคาม  จัด “ชุดผักสวนครัวน้อยให้แม่” เซทพร้อมปลูก พริก  กะเพรา คะน้า กวางตุ้งดอก ผักกาดหอม ผักกาดเขียวน้อย เผื่อแผ่ต่อเนื่องหลังน้ำลด  เร่งผลิต 1,500 ชุด   เตรียมส่งถึงมือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี  หวังดีให้ปลูก เก็บ กิน หลังน้ำลด

ผศ. ดร.พีระยศ  แข็งขัน  อาจารย์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร  พร้อมด้วย รศ. ดร.อนุชิตา  มุ่งงาม คณบดีคณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ดร.อัศวิน  อมรสิน (ผู้คิดไอเดีย ข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์ หรือ กล่องข้าวน้อยให้แม่)  นำคณะอาจารย์  นิสิตจิตอาสาจากคณะเทคโนโลยี  ร่วมลงมือในกระบวนการผลิต “ชุดผักสวนครัวน้อยให้แม่”  ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่  ผสมดินปลูก  เตรียมถาดเพาะ   บรรจุดินลงถุง  บรรจุเมล็ดผักลงในซองซิปล็อค  ติดสติกเกอร์คู่มือการใช้   และจัดเป็นชุดเตรียมพร้อมส่งถึงมือผู้รับ

ผศ.ดร.พีระยศ  แข็งขัน   กล่าวว่า การผลิต “ชุดผักสวนครัวน้อยให้แม่”  เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของคณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ไอเดีย อาจารย์ ดร.อัศวิน  อมรสิน  ในการทำข้าวเหนียวหมูย่าง สเตอริไลซ์  ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และภายหลังน้ำลด  เรามีแนวคิดร่วมกันที่จะช่วยชาวบ้านอย่างต่อเนื่องด้วยความห่วงใย  ประกอบกับมีเงินทุนที่เหลือจากการรับบริจาคจากการทำข้าวเหนียวหมูย่าง มาเป็นทุนในการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ   ให้ชาวบ้าน ได้ปลูกพืชผัก ไว้ประกอบอาหารรับประทานเองที่บ้านได้  อย่างง่าย  และสะดวก

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจาก  ผสมดินปลูกอินทรียวัตถุโดยนำวัสดุเพาะ  ประกอบด้วย ขุยมะพร้าว ผสมกับขี้หม้อกรองอ้อย  อัตราส่วน 1:2จากนั้นคัดเลือกพันธุ์ผัก เลือกยี่ห้อที่ดี  เมล็ดได้คุณภาพ  โดยเมล็ดผักที่เลือก ได้แก่ พริก  แมงลัก กะเพรา คะน้า กวางตุ้งดอก ผักกาดหอม และผักกาดเขียวน้อย นำมาบรรจุลงในถุงซิปล็อค พร้อมใส่ชื่อพันธุ์ผัก  ติดสติกเกอร์ส่วนประกอบวิธีการเพาะ และจัดเป็นชุดในตะกร้าพลาสติก ผ้าขาวบาง หนังยางรัด  เตรียมพร้อมส่ง

วิธีการเพาะกล้าพืช  เริ่มจาก นําเมล็ดพันธุ์พืช(คลุกไตรโคเดอร์มากันเชื้อรามาแล้ว) ใส่ในผ้าขาวบางมัดด้วยหนังยาง แล้วแช่น้ำเป็นเวลา 6 ชั่วโมง  จากนั้น นําห่อเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำนํามาบ่มในสภาพชื้นอีก 24 ชั่วโมง เมื่อสังเกตเห็นรากงอกออกจากเมล็ด ให้นํามาเพาะในตะกร้าที่ใส่วัสดุเพาะ โดยฝังลึกประมาณ 1 เซนติเมตร กลบเมล็ดแล้วรดน้ำให้ชุ่ม  นําตะกร้าเพาะไปวางไว้ ในที่ร่ม  เมื่อเมล็ดในตะกร้าเพาะงอกเป็นต้นอ่อน สังเกตมีใบเลี้ยงสีเขียวอ่อน  ทําการรดน้ำให้พอชุ่ม  จนกระทั่งต้นกล้างอกใบจริง และมีความแข็งแรง  จึงนำต้นกล้าแยกไปเพาะปลูกกลางแจ้ง และก็รอให้ต้นกล้าโตเต็มที่จากนั้นก็เก็บใบเก็บผลมาประกอบอาหารรับประทานได้

ทั้งนี้ ทางคณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ได้ตั้งเป้าจะผลิตจำนวน 1,500 ชุด และเตรียมพร้อมจะเดินทางไปส่งให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผ่านหน่วยงานที่ประสานไว้  ในจังหวัดอุบลราชธานี ในเร็วๆนี้

หน้าแรก » การศึกษา