วันพุธ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 07:42 น.

การศึกษา

"สันติศึกษา มจร" กระตุ้นนิสิตวิจัยกินได้ หนุนขายออนไลน์แนวพุทธสันติวิธี

วันเสาร์ ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563, 09.57 น.

"สันติศึกษา มจร" กระตุ้นนิสิตนำสันติภาพลงดิน วิจัยสร้างสันติภาพกินได้ ใช้ชีวิตสันติสุข  ส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์แนวพุทธสันติวิธี

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2563 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง สังขารจึงเป็นทุกข์" เพราะร่างกายหิวโหยจึงทำให้คนสนใจแต่เรื่องปากท้องมากกว่าเรื่องจิตใจ มุ่งแสวงหาความสุขจากการมีกินมีใช้ มากกว่าความสุขสงบทางจิตใจ ฉะนั้น จึงไม่แปลกว่า เพราะเหตุใด จึงตรัสให้อนาถปิณฑิกเศรษฐีจัดสำหรับข้าวปลาอาหารให้ชายคนหนึ่งรับประทานก่อนที่จะแสดงธรรม

หลักสูตรสันติศึกษา มจร นอกจากจะเน้นสันติภาพภายในตามพุทธประสงค์แล้ว ยังเน้นกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสันติภาพภายนอก สันติภาพภายนอกมิได้มีนัยเพียงกระตุ้นให้เกิดความปรองดองในชีวิต ชุมชน และสังคมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงมิติการพัฒนาการเป็นอยู่ในชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมอาชีพเพื่อการกินดีอยู่อิ่มปากอิ่มท้องด้วย

"ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรจึงกระตุ้นให้นิสิตปริญญาเอก นำสันติภาพลงดิน พัฒนาสันติภาพให้กินได้ งานวิจัยที่เน้นชุมชนเป็นฐาน (Community Based Peace Studies) อย่างน้อย 4 ชิ้น จึงสะท้อนเจตนารมณ์ดังกล่าว #คุณจิตรา แสงวัฒนาฤกษ์ อดีตนายกโรตารี่ จังหวัดลพบุรี พัฒนาผู้นำสตรีจิตอาสาเพื่อเสริมสร้างชุมชนสันติสุข #คุณวรภา มนต์อารักษ์ พัฒนาสินค้าชุมชน #คุณสุระเชษฐ์ สุทธิบุตร ต่อยอดด้วยการส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์โดยพุทธสันติวิธี และ #คุณธปภัค ได้ทำวิจัยเพื่อพัฒนานักไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำตำบล"  พระมหาหรรษา กล่าวและว่า

งานวิจัยทั้ง 4 ชิ้น จึงเป็นการมุ่งส่งเสริมและพัฒนาสันติภาพในชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน โดยเริ่มจากการนำคนในชุมชนมาปรับ Mindset เสริมสร้างและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ทั้งด้านจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาต่อยอดสินค้าชุมชนโดยเน้นวัสดุและผลิตภัณฑ์ในชุมชน แล้วพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะจนสามารถขายสินค้าในตลาดออนไลน์ นอกจากนั้น ยังฝึกทักษะกลุ่มคนในชุมชนให้สามารถประนีประนอมข้อพิพาทและผลประโยชน์ในชุมชนด้วย

"งานวิจัยสาขาสันติศึกษาตามแบบฉบับของมหาจุฬาฯ จึงเน้นนำสันติภาพลงดิน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถกินสันติภาพได้ พร้อมๆ กับการนำสันติธรรมลงสู่จิตใจของนิสิตและกลุ่มคนในชุมชน  แนวทางเช่นนี้ จะทำให้สันติภาพมีความหมายและเกิดคุณค่าในวิถีแห่งการปฏิบัติในวิถีชีวิต และในชุมชนฐานราก  เพราะ #สันติภาพในสังคมเริ่มต้นจากหมู่บ้าน" 

หน้าแรก » การศึกษา