วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 06:27 น.

การศึกษา

หลักสูตรสันติศึกษา "มจร" เตรียมดึงพลังบวร ปั้น WAT Next ยกระดับการพัฒนาวัดตอบโจทย์สังคมเมือง

วันอาทิตย์ ที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 09.05 น.

หลักสูตรสันติศึกษา "มจร" เตรียมดึงพลังบวร ปั้น WAT Next ให้เป็น Flagship  ยกระดับการพัฒนาวัดตอบโจทย์สังคมเมือง โดยใช้งานวิจัยเชิงปฏิบัติการอริยสัจจ์โมเดล

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2565 พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์,ศ.ดร. รักษาการเจ้าอาวาสวัดใหม่(ยายแป้น) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติ ศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)เปิดเผยว่า หลักสูตรสันติศึกษา มจร เตรียมเปิดตัวโครงการ Flagship มุ่งปั้น WAT Next เพื่อให้วัดสามารถตอบโจทย์ชุมชนเมืองใน 3 มิติ คือ วัดปัญญา (W: Wisdom) วัดตื่นรู้ (A:Awareness) วัดมุ่งสู่ความจริงชีวิต (T:Truth)  โดยดึงพลังบวร ได้แก่ บ้าน วัด ราชการ เข้ามาผนึกกำลังกันพัฒนา โดยหลักสูตรได้กระตุ้นให้นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา จัดทำวิจัยชุดเพื่อขับเคลื่อน 

งานวิจัยชุดของนิสิตจะครอบคลุมการพัฒนาวัดใน 3 ความหมายข้างต้น ทั้งมุ่งเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเป็นสัปปายสถานเกิดแรงจูงใจต่อการฝึกฝนพัฒนาตนเอง จัดหลักสูตรธรรมะที่เป็นสัปปายะสอดรับกับความต้องการ พัฒนาทูตสันติภาพให้เอื้อต่อการสื่อสันติภาพ จนสามารถยกระดับให้วัดเป็นศูนย์กลางสร้างสันติภาพทั้งภายในและภายนอก
 
แนวทางดังกล่าว จะสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั้งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ  และเป้าหมายการพัฒนา 4 ภาพในพระพุทธศาสนา คือ กายภาพ (ภาวิตกายะ) พฤติภาพ (ภาวิตสีละ) จิตภาพ (ภาวิตจิตตะ) และปัญญาภาพ (ภาวิตปัญญา) และที่สำคัญจะสอดรับกับเจตนารมณ์ของการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาปัญญาและคุณธรรมให้เจริญงอกงามในชุมชนและสังคมไทย

โดยวันนี้(7ส.ค.) นิสิตหลักสูตรสันติศึกษา มจร ได้ลงพื้นที่เรียนรู้แบบพุทธบูรณาการว่าด้วยแนวคิดทฤษฏีเกี่ยวกับสันติศึกษา : ผ่านการสร้างบารมีของสังฆทานสติ  ณ วัดใหม่ยายแป้น เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ โดยได้รับความเมตตาจากพระธรรมวัชรบัณฑิต ศ.ดร. อธิการบดี มจร เป็นผู้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับการสร้างบารมี ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของพุทธสันติวิธี ความว่า   

 

พระพุทธเจ้ามองการณ์ไกลมากในการบริหารองค์กรสงฆ์เพื่อความสันติสุขในการอยู่ร่วมกัน ถือว่าเป็นจักขุมาอันชาญฉลาดยิ่งในการปกครองหมู่สงฆ์ เพราะพระองค์ทรงย้ำว่า การถวายสังฆทานมีผลบุญมากกว่าถวายปาฎิปุคคลิกทาน หมายถึง ทานที่ถวายจำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปหนึ่งรูปใดเท่านั้น  เพราะสังฆทานแสดงให้เห็นถึง 4 คำในการสร้างสันติสุข ประกอบด้วย  ความเสมอภาค  ความเท่าเทียมกัน  ความยุติธรรม  สาธารณโภคี มีอาหารแบ่งกันทาน มีงานแบ่งกันทำ ถือว่า เป็นการอยู่ร่วมกันด้วยการแบ่งปันมีความเอื้อเกื้อกูลกัน สังคมของสงฆ์จึงต้องเป็นต้นแบบเป็นแบบอย่างของการเอื้อเกื้อกูลในการอยู่ร่วมกันโดยสงฆ์หมู่มาก ซึ่งปราศจากอคติในการอยู่ร่วมกัน 

สังฆทาน แยกออกเป็น 2 คำ คือ " สังฆะและทาน " สังฆะ หมายถึง  หมู่แห่งภิกษุตั้งแต่ 2 รูปขึ้นไป  ส่วน ทาน หมายถึง การให้ การแบ่งปัน เป็นการแจกวัตถุสิ่งของด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์  คำว่า สังฆทาน จึงหมายถึง  การถวายวัตถุสิ่งของแด่หมู่แห่งภิกษุ หรือ ภิกษุสงฆ์ เพราะเจตนารมณ์ของสังฆทานเพื่อต้องการถวายแก่สงฆ์ทั้งปวง โดยไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด สังฆทานที่แท้จึงต้องคำนึงถึงความมั่นคงของสงฆ์และความแพร่หลายแห่งธรรมเป็นสำคัญ การทำบุญจึงมองได้ 3 มิติ  ประกอบด้วย 

1) มองในแง่เหตุ คือ การทำบุญเป็นกุศโลบายในการชำระใจให้บริสุทธิ์สะอาด 2) มองในแง่ผล คือ บุญเป็นความสุขใจที่เกิดขึ้นหลังจากใครก็ตามได้กระทำ 
3) มองในแง่สภาวะ  บุญเป็นภาวะนามธรรม ผลของบุญเกิดขึ้นที่ใจเป็นหลัก  มรรควิธีในการทำบุญจึงมี 10  ประการ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ  เช่น การให้ทาน ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น 

การทำบุญจะต้องประกอบด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ ประกอบ 3 กาล คือ " ก่อนให้มีใจเลื่อมใส ขณะให้มีใจยินดี  ให้ไปแล้วมีความเบิกบานใจ " การสะสมบุญจึงนำสุขมาให้เรา สังฆทานที่แท้นั้นต้องถวายเพื่อมุ่งอุปถัมภ์ทั้งปวง เพื่อสงฆ์อุปถัมภ์ธรรม และเพื่อให้ธรรมนั้นอำนวยประโยชน์สุขให้แก่สังคม สังคมที่มีธรรมคือสังคมที่มีบุญ บุญมหาศาลของผู้ทำสังฆทานคือ การได้อยู่ในสังคมที่มีธรรมนั่นเอง  สังฆทานจึงสะท้อนคำว่า " การดำรงอยู่ของสังฆะ เพื่อมอบธรรมะให้แก่สังคม "

สังฆทานจึงเป็นการฝึกใจให้กว้างขวาง คลายความติดถือมั่นในตัวบุคคลที่เราเคารพนับถือ เป็นพุทธวิธีการปล่อยวาง " ตัวกูของกู "  เป็นการฝึกให้ความสำคัญแก่สังฆะ หรือ สังคมมากกว่าปัจเจกบุคคล  และเป็นการฝึกชาวพุทธให้ไม่นำเอาศรัทธา หรือ ศาสนาไปฝากไว้กับตัวบุคคล คือ ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ถือว่าอันตราย เพราะเมื่อบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้หมดศรัทธา พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นว่า ทานให้หมู่สงฆ์ได้บุญมากกว่าทานให้กับพระองค์เอง นี่คือ จักขุมาหรือวิสัยทัศน์วิสัยธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง 

หน้าแรก » การศึกษา